เมืองไทย 360 องศา
แม้จะรับรู้กันดีว่า “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เธอคือ “สายตรง” ของจริง ที่จะก้าวขึ้นมาเป็น นายกรัฐมนตรีต่อจาก นายเศรษฐา ทวีสิน ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้น คำตอบค่อนข้างตรงกันว่า “คงอีกไม่นาน” อาจจะราวเดือนพฤษภาคม ปีหน้า เป็นช่วงที่วุฒิสภาหมดวาระตามบทเฉพาะกาล 5 ปี ได้เวลาผลัดเปลี่ยนพอดี หรืออาจรอไปก่อน หากจังหวะยังไม่ได้ โดยเฉพาะหากการ “โปรโมต” สร้างผลงาน สร้างบารมี ยังไม่เข้าเป้า
แน่นอนว่า เวลานี้หากพูดถึง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ต้องโฟกัสไปที่ “ซอฟต์พาวเวอร์” จนแทบกลายเป็นสัญลักษณ์แปะเอาไว้แล้ว เพราะนอกจากเธอเป็นรองประธานคณะกรรมการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้นัดประชุมเป็นครั้งแรก และเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) และจะจัดประชุมชุดนี้ทุกเดือน พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการ 11 ด้าน 12 คณะ ได้แก่ แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัล อาหาร ออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ดนตรี ศิลปะ และกีฬา ซึ่งแต่ละคณะได้เสนอแผนการดำเนินการเร่งด่วนภายใน 100 วัน การดำเนินการภายใน 6 เดือน และภายใน 1 ปี เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ให้เป็นที่รู้จักและสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น และคณะกรรมการชุดนี้จะมีกำหนดจัดประชุมเป็นประจำทุกเดือน โดยครั้งต่อไปจะเป็นวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566
นอกจากนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ยกระดับนโยบาย 30 บาท เรียกว่า เป็นนโยบายที่ถือว่าเป็น “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น เป็นการสะท้อนให้เห็นความสำคัญทั้งระดับตัวบุคคลและนโยบายที่ต้องการขับเคลื่อน
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ได้จัดทำแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยจะเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทย จำนวน 20 ล้านคน สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูง และแรงงานสร้างสรรค์ และจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านชอฟต์เพาเวอร์ของโลก
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามตามนโยบาย OFOS และ THACCA ได้แบ่งขั้นตอนการดำเนินการเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยจะเฟ้นหาคนที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จำนวน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือน โดยให้แจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ทั้งด้านทำอาหาร ฝึกมวยไทย วาดภาพศิลปะ ฝึกการแสดง ร้องเพลง ออกแบบ แฟชั่น ฝึกแข่ง e-sport และอื่นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่างๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สร้าง One Stop Service อำนวยความสะดวกในการดำเนินการของอุตสาหกรรมชอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ พร้อมกับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา การสร้างแรงจูงใจด้านภาษี การทลายกรอบบรรทัดฐานเดิมเพื่อให้เสรีภาพแก่ความคิดสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น ให้ทุกคนสามารถแสดงผลงานได้อย่างไร้ขีดจำกัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC ในทุกจังหวัด
ขั้นที่ 3 การนำอุตสาหกรรม ซอฟต์พาวเวอร์ รุกสู่เวทีโลก จะเดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมมือกับภาคเอกชนนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เผยแพร่สู่ตลาดโลกผ่านยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วยการวิจัยข้อมูลเชิงพฤติกรรม กลยุทธ์การสื่อสาร และการร่วมจัดกิจกรรมในระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งที่เป็นกิจกรรมระดับโลก ซึ่งจัดภายในประเทศ และการนำซอฟต์เพาเวอร์ ศักยภาพสูงเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกในต่างประเทศ
แน่นอนว่า นั่นคือ แผนปฏิบัติการที่ “ทีมงาน” ร่างเอาไว้ให้เธอพูด หรืออ่านตามสคริปต์ ซึ่งพิจารณาแบบหลับตานึกภาพแล้วต้องยิ่งใหญ่อลังการ สามารถสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ได้หลายล้านคน อย่างไรก็ดีแล้วในความเป็นจริงตั้งแต่ น.ส.แพทองธาร เปิดตัว เข้ามาขับเคลื่อนเรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” แบบเต็มตัว จนถึงตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่า “ไม่ค่อยฮือฮา” เท่าใดนัก หลายเรื่องที่พยายามนำเสนอออกมา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่อง “พื้นๆ” ธรรมดาทั่วไป เช่น การยกตัวอย่างกรณีของ เครื่องดื่ม “ช็อกมินต์” หรือ ล่าสุด เป็น “หมูกระทะ” เป็นต้น ก็เกิดเสียงวิจารณ์ทำนองว่า มันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ตรงไหน ในเมื่อไม่ใช่เป็นเอกลักษณ์ของไทย พร้อมกับเหน็บแนมกลับไปว่า น่าจะยกตัวอย่างประเภท “โอยั๊วะ โอเลี้ยง” หรือแม้แต่ “ชาชัก” น่าจะดีกว่าหรือไม่
แต่นั่นไม่เท่ากับเสียงวิจารณ์จากบางคนที่น่าสนใจ ก็คือ กรณีของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดี 112 ที่โพสต์เยาะเย้ย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ออกมาพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ว่า “ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไรนัก ยกตัวอย่างมั่วไปหมด เช่น เรื่อง ช็อกมินต์
“คือ สมัยหนึ่งคนเพื่อไทยอาจจะสร้างความตื่นเต้นได้ เพราะมีคู่แข่งประเภทประชาธิปัตย์ แต่เดี๋ยวนี้มาเจอ “ช่อ” ธนาธร ฯลฯ ที่อ่านมากกว่า จึงออกจะเชยๆ เสียแล้ว และเรื่องนี้ชวนให้คิดด้วยว่า คนอย่าง อุ๊งอิ๊ง นั้นไม่มีอะไรเลย นอกจากความเป็นลูกพ่อทักษิณเท่านั้น”
หรือ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่โพสต์ข้อความกรณี น.ส.แพทองธาร ยกตัวอย่าง “หมูกระทะ” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ว่า เลอะเทอะ คิดได้ไง และว่า “ต้นแบบหมูกระทะมาจากเกาหลี หรือจีน” โน่น
ก็ว่ากันไป อาจจะหลายคนหลายมุมมอง แต่ก็พออนุมานได้ว่า แนวคิดหรือการโปรโมตเรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” ของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังธรรมดา ไม่ใช่เรื่องฮือฮาอะไรนัก ลักษณะที่มองเห็นเหมือนกับว่า เป็นการ “โปรโมตลูกสาวเถ้าแก่” เสียมากกว่า แม้ว่าจะต้องดูกันยาวๆ แต่ในเวลานี้ยังถือว่าไม่โดดเด่น ซึ่งไม่ต้องแปลกใจที่เริ่มได้ยินเสียงเย้ยออกมาทำนองว่า มีดีแค่ “ลูกทักษิณ” เท่านั้น หากมองมุมนี้ มันก็ใช่อยู่แล้ว !!