xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แจง 6 เหตุผลยังไม่แจกใบเหลือง-แดง ส.ส. มองสถิติร้องเรียนลดมีนัยยะ แนะรอลุ้นผลผ่านเว็บ สนง.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขาฯ กกต. ยก 6 เหตุผลแจงยังไม่แจก “ใบเหลือง-แดง” เลือกตั้ง ส.ส. มองสถิติร้องเรียนลดลงแบบมีนัยยะ แนะรอลุ้นผลวินิจฉัยคดีที่เหลือผ่านเว็บ สนง.กกต.

วันนี้ (26 พ.ย) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงมาตรการและรูปแบบการควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งปี 2566 ทำไมยังไม่มีใบเหลือง/ใบแดง ว่า

1. กรอบแนวคิดการนำคดีเลือกตั้งไปสู่ศาลไม่อาจควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามที่กฎหมายได้ ออกแบบไว้อย่างที่ควรจะเป็นต้องหามาตรการเสริม 2. บทเรียนจากข้อกฎหมายเรื่องมาตรฐานของการชั่งน้ำหนักพยานที่สูงขึ้นเทียบเท่าคดีอาญา คดีเลือกตั้ง เน้นรักษาผลประโยชน์ของรัฐ เพียงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า (คือสงสัย) เพียงพอที่จะเอาผู้เล่นออกจากสนามแล้ว แต่ในทางคดีอาญาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยจึงจะลงโทษได้ นั้นหมายความว่าถ้าสงสัยต้องปล่อยไป เมื่อกฎหมายนำเรื่องคดีเลือกตั้งและคดีอาญามาอยู่ในการกระทำเดียวกัน ทุกคดีการเลือกตั้งต้องจบที่ศาล การชั่งน้ำหนักพยานจึงต้องพยายามใช้มาตราฐานคดีอาญาไปโดยปริยาย

นายแสวง ระบุต่อว่า 3. บทเรียนจากอดีตในเชิงข้อเท็จจริงรูปแบบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะมีความสลับซับซ้อน เพราะเกี่ยวพันกับผู้จะมีอำนาจมากที่สุดเมื่อชนะเลือกตั้ง สมประโยชน์ทั้งผู้ให้/ผู้รับ มีความรัก ความศรัทธาต่อพรรคการเมืองและผู้สมัครเป็นพื้นฐาน มีผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เกาะเกี่ยวผูกพันกัน ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้น การดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงประสบผลสำเร็จได้ยาก เพราะทุกคดีต้องไปที่ศาล โจทก์ จำเลย พยาน ต้องไปเผชิญหน้ากันในศาล หลังเลือกตั้งถ้าพยานไม่เหมือนเดิมแล้ว ผลคดีจะเปลี่ยนไป 4. มาตรการปี 2566 นำบทเรียนมาใช้ด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาแล้ว กกต.และสำนักงาน จึงได้ดำเนินการมาตราการเชิงใชั “การป้อง/ป้องปราม” ก่อนการเลือกตั้ง มาเป็นหลัก ส่วนการดำเนินคดีหลังเลือกตั้งดำเนินการเช่นเดิม วีธีดำเนินการ มีศูนย์ข่าว บัญชีหัวคะแนน ของผู้สมัครและของพรรคการเมืองทุกพรรค จัดโซนพื้นที่ตามระดับการแข่งขัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ชุดปฏิบัติการต่างๆ ในแตละเขตเลือกตั้ง อาทิ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ชุดปฏิบัติการข่าว ชุดเคลื่อนที่เร็ว และยังมีการบูรณาการร่วมกันกับฝ่ายปกครอง ตำรวจ ภาคประชาชน และ ศส.ปชต. ด้วย ทั้งนี้ จะใช้วิธีป้องปราม กดดัน ลาดตระเวน สังเกตการณ์ สืบสวนหาข่าว แล้วแต่กรณีในแต่ละเขตเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิด หรือ ถ้าคิดหรือเตรียมการจะทำกระทำไม่สำเร็จ

เลขาธิการ กกต.ระบุต่ออีกว่า 5. เป้าหมาย เพื่อควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิด (ลดหรือไม่มีใบเหลือง ใบแดง) อันเป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งซ่อม และสิ้นเปลืองทรัพยากรอีกทางหนึ่งด้วย 6. ผลการดำเนินการ การเลือกตั้งปี 2566 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนในภาพรวมลดลงมากกว่าครึ่ง เฉพาะการร้องเรียนเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียง 100 กว่าเรื่อง นอกนั้นเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น การนับคะแนน การหลอกลวง กว่า 100 เรื่อง และเป็นเรื่องที่ชุดต่างๆไปปฏิบัติการได้ข้อมูลและเบาะแสมา เกือบ 100 เรื่อง รวมเป็นคำร้องทั้งหมด 365 เรื่อง จากการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ผ่านมาจะมีคำร้องมากกว่านี้เป็นหลายเท่าก็มี จึงถือว่าสถิติคำร้องลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตาม สำนวนใดมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กกต. มีมติในสำนวนนั้นว่าอย่างไร ดูได้จากคำวินิจฉัยของแต่ละสำนวน ซึ่งสามารถตรวจสอบคำวินิจฉัยได้จากเว็บไซต์สำนักงาน กกต.


กำลังโหลดความคิดเห็น