นายกฯ เผย กต.อัปเดตแล้ว 41 คนไทยออกจากเมียนมา ข้ามถึงเชียงรายแล้ว ด้าน กต.รายงานอีกกว่า 200 คนที่เหลือ มีความซับซ้อนของปัญหา เนื่องจากอาจเข้าพื้นที่โดยผิดกฎหมาย ต้องผ่านกระบวนการศาล และส่วนมากไปทำงานกับกลุ่ม Call Center อาจมีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดหลอกลวงผู้อื่น อยู่ระหว่างอพยพก่อนดำเนินการตามกฎหมาย
วันที่ 18 พ.ย. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง โพสต์ผ่าน x อัปเดตการช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างในประเทศเมียนม่าเนื่องจากสถานการณ์สู้รบ ว่า “รัฐบาลไทยติดตามสถานการณ์และดำเนินการช่วยเหลือคนไทยในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ทางกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือคณะคนไทยจำนวน 41 คนนั้น เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งหมดเดินทางข้ามพรมแดน จ.ท่าขี้เหล็ก เข้ามายัง อ.แม่สาย จ.เชียงราย และได้ขึ้นรถบัสมาถึงสโมสรค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงรายอย่างปลอดภัยแล้วครับ”
ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานพัฒนาการ เกี่ยวกับคนไทย 41 คน ว่า
เช้าวันนี้ (18 พ.ย.) คนไทยกลุ่มดังกล่าว ได้เดินทางข้ามพรมแดน จ.ท่าขี้เหล็ก เข้ามายัง อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยปลอดภัยแล้ว และได้ขึ้นรถบัสของกองทัพบกเพื่อเดินทางไปยังสโมสรค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย และได้เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง โดยมีเจ้าหน้าที่ร่วมสอบปากคำ เพื่อคัดแยก กลุ่มที่เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ และกลุ่มที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ออกจากกัน
โดย กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนว่า ขั้นตอนในการช่วยเหลือกลุ่มคนไทยจากเมืองเล้าก์ก่ายทั้งที่กลับมาแล้ว และกลุ่ม 200 กว่าคนที่กำลังดำเนินการอยู่มีความซับซ้อนและมีกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ
1) คนต่างชาติที่จะเข้าไปยังบริเวณเล้าก์ก่าย ล่าเซี่ยว และบริเวณดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตก่อนเข้าพื้นที่ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการเข้าเมืองผิดกฎหมายเมียนมา ดังนั้น จึงมีกระบวนการศาลเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งใช้เวลานานในการพิจารณา และทางการเมียนมา ต้องยกเว้นการดำเนินคดีโดยอาศัย พ.ร.บ.ฉุกเฉิน
2) นอกจากนี้ กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ทำงานที่เล้าก์ก่ายโดยมากกลุ่มเป็น call center หรือ scam center ทำให้กลุ่มคนไทยอาจเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิด หรือมีส่วนรู้เห็นในการหลอกลวงฉ้อฉล เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อโอนเงินให้ มีความผิด แต่มีเหตุยกเว้นโทษ หากถูกบังคับถูกทำร้ายร่างกาย ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว จึงต้องกระทำความผิด
โดย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งรัดดำเนินการเพื่อช่วยเหลือคนไทยออกสู่พื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พยายามเจรจา ผลักดันและหารือกับทางการเมียนมาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อให้ถือว่ากลุ่มคนไทยดังกล่าวเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบ จึงสามารถทำให้ทางการเมียนมาเข้าใจและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับไทยให้คนเหล่านี้ กระทรวงการต่างประเทศจึงขอขอบคุณรัฐบาลเมียนมา หน่วยงานและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยทั้ง 41 คน ให้ได้กลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย
สำหรับคนไทยกลุ่ม 200 กว่าคนนั้น ยังอยู่ในกระบวนการอพยพอยู่ ซึ่งมีความซับซ้อนและความละเอียดอ่อนในด้านต่างๆ จึงยังขอไม่แจ้งรายละเอียดในชั้นนี้