xs
xsm
sm
md
lg

ก.ทรัพยากรฯ จับมือ มหาดไทย แก้ปัญหาจัดการขยะอาหาร เป็นวาระเร่งด่วน มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ได้ผนึกกำลังจัดการขยะอาหาร เพื่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีและลดก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันนี้ (16 พ.ย.) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหาร เพื่อรองรับเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ณ ตึกสันติไมตรี ทาเนียบรัฐบาล โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นสักขีพยาน มีหน่วยงานร่วมดำเนินงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารที่เป็น “วาระเร่งด่วน” ในปี 2564 ทส.ดำเนินการสำรวจองค์ประกอบขยะมูลฝอย ณ สถานที่ การจัดขยะมูลฝอยมีสัดส่วนของขยะอาหารมากถึงร้อยละ 39 (9.68 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งประเทศจำนวน 24.98 ล้านตัน โดยนำมาคำนวณเป็นปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล ณ ครัวเรือน

ทั้งนี้ จากการสำรวจ พบว่า องค์ประกอบของขยะอาหาร มีส่วนที่รับประทานได้ (Edible) ร้อยละ 39 และส่วนที่รับประทานไม่ได้ (Inedible) ร้อยละ 61 เพื่อให้การแก้ไขปัญหา ขยะอาหารของประเทศมีประสิทธิภาพจึงจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (ปี 2566-2573) และ แผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2566-2570) เป็นกรอบการแก้ไขปัญหาขยะอาหารของ ประเทศ ตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนของขยะอาหารในขยะมูลฝอยชุมชนจากร้อยละ 39 ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 28 ภายในปี 2570 โดยมีมาตรการครอบคลุมตั้งแต่การลด หรือทิ้งให้น้อยลง ตั้งแต่การจาหน่าย การประกอบอาหาร การบริโภค โดยมุ่งให้เกิดการคัดแยกขยะอาหารจากต้นทาง และนาขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้เป็นอาหารสัตว์ ผลิตพลังงานชีวภาพ ทำให้ลดการตกค้างของขยะที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ลดมลพิษจากขยะ ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากขยะอาหารเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก และให้เหลือขยะนำไปกำจัดให้น้อยที่สุด ในปี 2565 มท. ส่งเสริมการจัดการขยะอาหาร โดยใช้ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยสมัครใจ ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซได้มากกว่า 1,870,000 กว่าตัน

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า ข้อตกลงความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินการครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัด และลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคของเสียชุมชน ส่งเสริม และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ คัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท โดยเฉพาะขยะอาหารทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบท รวมถึงพัฒนากลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอาหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น