โฆษกรัฐบาล เผย นพ.พรหมินทร์ ชี้แจงทุกข้อห่วงกังวลโครงการ Digital Wallet 10,000 บาท มั่นใจรัฐบาลใช้ Winner Attitude เดินโครงการ เชื่อทุกปัญหามีทางออก
วันนี้ (14 พ.ย.) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกการชี้แจงของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต่อกระแสสังคมที่มีข้อห่วงกังวลในโครงการ Digital Wallet ดังนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ต่อข้อสังเกตว่า การใช้เงินในโครงการ Digital Wallet อาจจะขัดต่อข้อกฎหมายนั้น โดย นพ.พรหมินทร์ ชี้แจงว่า ได้มีการพิจารณาข้อจำกัดของกฎหมายและความเห็นต่างๆ ของนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียง ประเทศไทยยังมีปัญหา ล้าหลัง ภาวะหนี้สิ้นของประชาชนเพิ่มขึ้นในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา จากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90 ของ GDP จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหลังจากออกเป็นนโยบาย ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้พูดคุยหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่า เป็นวิธีการที่ดีที่สุด เนื่องจากสามารถขอฉันทามติผ่านกระบวนการในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถทำได้และเคยทำมาก่อนในหลายรัฐบาล
กรณีกระแสสังคมว่า รายละเอียดหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการไม่ตรงปกเหมือนตอนหาเสียงไว้ นพ.พรหมินทร์ ชี้แจงว่า รัฐบาลมีการปรับแก้ไขตามเสียงคัดค้านให้เหมาะสม ซึ่งโจทย์ของ Digital Wallet คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นในบรรดาของกลุ่มประชาชนที่แบ่งตามรายได้ต่างๆ รายได้กลุ่มที่น้อยที่สุด 20% ที่น้อยที่สุด หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุด เวลาที่รัฐบาลให้เงินไป กลุ่มดังกล่าวเกิดการใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 5 เท่า ขณะที่กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 3.5-4.5 เท่า ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่มีเงินเดือนมากกว่า 7 หมื่นบาท เมื่อรัฐบาลให้เงินไปแล้ว จะเกิดการใช้ประมาณ 1.2 เท่า
ดังนั้น จากข้อพิจารณา และข้อเสนอต่างๆ ทำให้ได้ตัดคนส่วนนี้ออกไป เพราะว่าเป็นส่วนที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ละทิ้ง โดยมีการหาวิธีที่คล้ายๆ กัน จึงมีการใช้ e-Refund ซึ่งกลุ่มนี้สามารถนำเงินของตนเองไปใช้จ่ายแล้วนำเงินมาคืนของหลวง จึงขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ละทิ้งกลุ่มใด แต่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการและมาตรการให้เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนกรณีที่มีข้อสังเกตถึงการกู้เงินของรัฐบาลนั้น เป็นการหาทางลง เนื่องจากเสี่ยงต่อกฎหมายต่างๆ หรือไม่ เลขาฯ ได้ชี้แจงว่า ข้อสังเกตดังกล่าวการหาทางลงเป็นวิธีคิดของคนที่เป็น Loser ของคนที่ปรารถนาความพ่ายแพ้ แต่คนที่อยากจะเอาชนะใช้ Winner attitude ซึ่งจะคล้ายกับการหา solution ร่วม หรือ “ทุกปัญหามีทางออก” ซึ่งรัฐบาลพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดและต้องการทำให้โครงการนี้สำเร็จ เพราะเชื่อมั่นว่า ประชาชนกำลังรอโครงการนี้อยู่กว่า 60-70% รวมทั้งจะส่งผลให้เกิด micro investment โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ในการลงทุน สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งพบว่ากว่าร้อยละ 40.23 ระบุว่า จะนำเงินไปรวมกับครอบครัวเพื่อไปใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น เกษตรกรอาจนำเงินไปรวมในครอบครัวเพื่อใช้ทำมาหากินในภายภาคหน้า หรือหากมีจำนวน 2-3 คนในครอบครัว อาจเปิดร้านขายของในเมืองได้ จึงขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะนำเงินเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ใช่การใช้จ่ายอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการลงทุนในระยะยาวเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย
“โครงการ Digital Wallet ตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว เชื่อมั่นว่า จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจมหภาคฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่า ทุกภาคส่วนมีความหวังดีกับประเทศ และขอชี้แจงว่า รัฐบาลได้ดำเนินโครงการนี้ผ่านการพิจารณา วิเคราะห์ ทุกปัจจัย ตัวแปร และศึกษาข้อมูลทางสถิติ และเชื่อมั่นว่า มีประชาชนจำนวนมากรอคอยเงินจากโครงการนี้เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น” นายชัย กล่าว