xs
xsm
sm
md
lg

“สุดารัตน์” ห่วงชาวนายิ่งทำยิ่งเจ๊ง จี้ รบ.คลอดสินเชื่อชะลอขายข้าว หวั่นราคาหอมมะลิร่วงหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุดารัตน์” จี้ รบ.ออกสินเชื่อชะลอการขายข้าวโดยด่วน หวั่นล่าช้า ทำชาวนาเดือดร้อนสาหัส เหตุข้าวจะเกี่ยวเสร็จภายในสิ้น พ.ย. หวั่นทุบราคาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ร่วงเหลือ กก.ละ 7-8 บ. ชาวนาส่อเจ๊งยับเยิน หากรัฐบาลยังไร้ความชัดเจน

วันนี้ (4 พ.ย.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า ได้กำชับให้ ส.ส.ของพรรค โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน เร่งพูดคุยกับพี่น้องชาวนา หลังพบว่า มีเกษตรกรร้องเรียนผ่านเข้ามาที่พรรคจำนวนมาก โดยแสดงความกังวลเรื่องราคา “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ที่กำลังทะลักออกตลาด ราคาจะตกลงเรื่อยๆ ชาวนาจะต้องขาดทุนอีก หากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการช่วยเหลือ ตามที่ นายชัชวาล แพทยาไทย ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย ได้อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว

โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อมอบให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวตกต่ำ จะเป็นการช่วยเหลือค่าเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก 1,500 บาทต่อตัน กรณีที่เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตนเอง

“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนโดยเร็ว เพราะพี่น้องชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเป็นจำนวนมาก และจะเกี่ยวเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ทั้งหมด และต้องขายสู่โรงสี เพราะไม่มีแรงจูงใจและความชัดเจนในมาตรการของรัฐบาล ราคาข้าวจะต่ำลงเรื่อยๆ ณ วันนี้ ราคา 10.50 บาทต่อ กก. อีก 20 วันข้างหน้าราคาอาจต่ำลง ถึง 7 หรือ 8 บาทต่อ กก.เท่านั้น”

จึงต้องทวงถามรัฐบาล ว่า มาตรการชะลอการขายข้าว 1,500 บาทต่อตันจะได้เมื่อไร และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร สำหรับสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน ที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกร ซึ่งเคยกำหนดวงเงินสินเชื่อเป้าหมายที่ 10,000 ล้านบาท จะยังมีอยู่หรือไม่ และจะได้เมื่อไร

หากมาตรการของรัฐออกมาล่าช้าจะไม่ทันการในการช่วยเหลือพี่น้องชาวนา โดยเฉพาะ 2 มาตรการที่ได้กล่าวไป ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องชาวนา อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ปล่อยปะะละเลยชาวนาตามยถากรรม ทำให้ชาวนา “ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง ยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้” เพราะไม่ได้มีมาตรการในการดูแลมาตั้งแต่ต้น

รวมถึงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพ ผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหรือค่าเก็บเกี่ยวในอัตราไร่ละ 1,000 บาทสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือนจะยังได้หรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น