“เกรียง” รมช.มหาดไทย ประชุม ศปถ.นัดแรก ถกแผนบูรณาการป้องกัน-ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล เข้มบังคับใช้ กม. ตั้งด่านตรวจถนนสายหลัก-จุดเสี่ยง ชี้ด่านต้องห่างกันเกิน 50 กม. ห้ามต่างคนต่างตั้ง สั่งกำนัน-ผู้ใหญ่ลุยตรวจคนเมาตามหมู่บ้านไม่ให้ออกเพ่นพ่าน เสี่ยงอุบัติเหตุ
วันนี้ (3 พ.ย.66) ที่ห้องประชุม 1 ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อพิจารณา (ร่าง) แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ.2567 การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบมากที่สุด
รวมถึงการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้วันที่ 21 ม.ค.ของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ทั้งนี้ นายเกรียง ได้กำชับว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาล และวันหยุดยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการตั้งด่านตรวจบนถนนสายหลัก เพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน ตลอดจนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งด่านตรวจแบบเชิงรุก ควบคู่กับการใช้กลไกของฝ่ายปกครองในการควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ในพื้นที่ เพื่อลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทุกระดับ และนำไปสู่การสัญจรปลอดภัยอย่างยั่งยืน
นายเกรียง เปิดเผย การประชุมฯ ในวันนี้ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ร่วมกันพิจารณาร่างแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการบูรณาการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลและวันหยุดต่างๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภายใต้ชื่อการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ซึ่งแผนดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมาย แนวทาง และมาตรการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยอื่นๆ ในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุดยาว
พร้อมทั้งกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานที่ครอบคลุมแต่ละระดับ ทั้งระดับภาพรวม ระดับหน่วยงาน และระดับพื้นที่ เพื่อที่ทุกหน่วยงานจะได้ร่วมกันขับเคลื่อน “วาระแห่งชาติ” การป้องกันและลดอุบัติเหตทางถนนกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดทั้งปี ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมไทย
ซึ่งที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบร่างแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ.2567 และได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และจะนำเสนอต่อ ครม.ทราบ เพื่อทุกภาคส่วนจะได้นำไปวางแผนเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุดต่อไป
“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ ปภ. ในฐานะเลขานุการ ศปถ. ดำเนินการร่วมกับฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการต่างๆ ในการตรวจสอบ ปรับปรุงองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของทุกคณะอนุกรรมการใน ศปถ. และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อปรับปรุงแก้ไขคำสั่งคณะอนุกรรมการให้มีความเป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่รับผิดชอบ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด” นายเกรียง กล่าว
นายเกรียง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางในการดำเนินการตามมติ ครม. ที่ได้กำหนดให้วันที่ 21 ม.ค.ของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดกิจกรรมรณรงค์ ไปพร้อมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดทุกจังหวัด
นายเกรียง เปิดเผยด้วยว่า อีกทั้งได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร แจ้งโรงเรียนในสังกัดจัดกิจกรรมสัปดาห์ “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ขึ้นทุกปี โดยปีนี้ให้จัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 15 – 21 ม.ค. 2567 เพื่อกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทุกปัจจัยเสี่ยงอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
รมช.มหาดไทย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการปีนี้เราจะลดระยะเวลาเดินทางของประชาชน เพื่อให้เกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด ด้วยการลดด่านตรวจบนถนนสายหลัก ให้มีระยะห่างอย่างน้อย 50 กิโลเมตร เป็นต้นไปจากอดีตที่ผ่านมา แต่ละพื้นที่ต่างคนต่างตั้งด่านตรวจ นอกจากนี้ ด่านตรวจจะต้องกำหนดไว้ในจุดอันตราย จุดเสี่ยง ไม่ได้มาอยู่ในอำเภอข้างถนนเช่นเดิม
นายเกรียง กล่าวว่า ส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เมื่อก่อน ช่วงตั้งด่านตรวจ ซึ่งในบางพื้นที่มีการตั้งวงดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้เสียภาพลักษณ์ จึงปรับแผนด้วยการให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ปรับหน้าที่ตรวจเชิงรุก ลงไปในพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน ไปเยี่ยมบ้านที่จัดงาน แต่ทั้งนี้ไม่ได้ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ แต่ให้ไปสำรวจสอบถามว่า ซื้อเครื่องดื่มและของครบหรือไม่ เมื่อเวลามึนเมาจะได้ไม่ต้องออกไปซื้อเสี่ยงอันตราย เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้
เมื่อถามว่า ได้มีการกำหนดตัวเลขผู้เสียชีวิต และอุบัติเหตุหรือไม่ นายเกรียง กล่าวว่า การกำหนดเป้าบางปีก็เพิ่มบางปีก็ลด จึงได้มีการวิเคราะห์ว่า จากมาตรการที่มีการปรับจะช่วยลดอุบัติเหตุในปีนี้ให้ลดลง และก็จะประเมินมาตรการในช่วงปีใหม่เพื่อจะนำไปปรับปรุงใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนและสงกรานต์
ด้าน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ.กล่าวว่า ปภ. จะประสาน ศปถ.จังหวัดบูรณาการหน่วยงานภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกของ ศปถ.จังหวัด, ศปถ.อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการป้องกันและลดความเสี่ยงในบริเวณจุดเสี่ยงและจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน.