“ปิยบุตร” ผิดหวัง มติที่ประชุมร่วม ส.ส.- กก.บห.ก้าวไกล ขับ ส.ส.ถูกร้องคุกคามทางเพศเพียงคนเดียว ชี้ หาก แสดงความรับผิดชอบเอง คงไม่ต้องมาถึงวันนี้ มีแต่เสียกันทุกฝ่าย
ภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล มีข้อยุติกรณี ส.ส.ถูกกล่าวหาคุกคามทางเพศ โดยกรณี นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคก้าวไกล มีมติขับให้พ้นพรรค ส่วน นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ส.ส.เขตจอมทอง พรรคก้าวไกล มีมติไม่ถูกขับ แต่ถูกคาดโทษ และตัดสิทธิตำแหน่งต่างๆ ของพรรคนั้น
ล่าสุด นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้แสดงความคิดต่อกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า การใช้อำนาจที่ได้จากตำแหน่งของตนไปจูงใจล่อลวงบุคคลอื่น ให้กระทำการตามที่ตนต้องการเพื่อแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันกับเรื่องทางเพศ เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ในยุคสมัยนี้
หากพรรคก้าวไกล ต้องการยกระดับมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้ ต้องการป้องกัน ต่อต้านการคุกคามทางเพศ และความรุนแรงทางเพศภายในองค์กร หรือสถานที่ทำงาน ให้ได้ ตามที่โฆษณาไว้จริง
ผลมติที่ออกมาวันนี้ นับว่า น่าผิดหวัง (แน่นอน ส่วนหนึ่งมาจากรัฐธรรมนูญไปบังคับว่าต้องใช้จำนวนถึง 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส.และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งถือว่าสูงมาก)
แต่เรื่องแบบนี้ เมื่อทั้งคณะกรรมการวินัยของพรรค และทั้งคณะกรรมการบริหารพรรค มีมติว่า มีการกระทำความผิดร้ายแรงแล้ว หาก ส.ส.ผู้ถูกร้องรู้จักมาตรฐานใหม่ในทางการเมืองอยู่บ้าง รู้จักความรับผิดชอบ ต่อผู้เสียหาย พรรค เพื่อน ส.ส.คนอื่น ผู้สนับสนุนพรรค และสังคมอยู่บ้าง คิดถึงตำแหน่งหัวโขนที่พึ่งได้มาอย่าง ส.ส. ให้น้อยลงบ้าง ส.ส.ผู้ถูกร้องก็ควรแสดงความรับผิดชอบ โดยไม่ต้องมาถึงวันนี้ที่พรรคต้องใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่ประชุม ส.ส.ต้องมาลงมติ
เหตุการณ์คราวนี้ดำเนินมาถึงตอนนี้ ไม่มีใครได้ มีแต่เสียกันทุกฝ่าย ผู้ร้อง ผู้เสียหาย ถูกกระทำ และถูกกระทำซ้ำอีกทุกครั้งเมื่อต้องชี้แจงหรือถูกสื่อตามสัมภาษณ์ และถูกกระทำซ้ำๆ อีก เมื่อไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ
พรรคก้าวไกลเสียหาย ถูกโจมตี วิจารณ์ ไม่ใช่แค่กรณีเรื่องการคุกคามทางเพศเท่านั้น แต่ยังทำให้ประชาชน พ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ไว้ใจ ไม่มั่นใจ ที่จะให้ลูกหลานของเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัคร หรือทำงานกับคนของพรรค
ส.ส.ผู้ถูกร้อง เมื่อไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ก็จะถูกตำหนิประณามไปตลอด อนาคตทางการเมืองน่าจะไปต่อได้ยากมาก
ส.ส.ในพรรค ต้องมาประชุม อภิปราย ลงมติ เกิดความแตกแยก กินแหนงแคลงใจกันในพรรค พนักงานพรรค ทีมงาน เสียความเชื่อมั่น ความนับถือในตัว ส.ส. ไม่อยากปฏิบัติงานให้อีกต่อไป เสียกำลังใจและหมดพลัง
ทั้งหมดนี้ คือ ผลพวงจากการไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ไม่กล้ายอมรับผิด ไม่กล้าแสดงความรับผิดชอบ คิดถึงเรื่องของตนเองมากกว่าเรื่องส่วนรวม