"สมศักดิ์" หวานเจี๊ยบ! จบ"ปม" ถ่ายโอน 5 บุคลากรสาธารณสุข ที่ไม่ได้ปฏิบัติภารกิจด้านปฐมภูมิ ไปอบจ. สรุปให้ถ่ายโอน 222 ราย เร่งจัดเกณฑ์ใหม่ ทำหนังสือขอ "โอนย้าย" รายชื่อทั้งหมดทั้ง 222 ราย ชง อ.กพ.สธ. ก่อนให้ อบจ. รับช่วงต่อทันที เผย "ประธาน กกถ." รับมติให้บุคลากร ทำหนังสือช่วยราชการไปพลางก่อน แต่ได้รับเงินเดือน พ่วงสิทธิสวัสดิการ เช่นเดิม
วันนี้ (1 พ.ย.2566) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการพิจารณแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการถ่ายโอนบุคลากร 5 หน่วยงาน
(สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน) ไปยัง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในปีงบประมาณ 2564-2566
ภายหลังมีตัวแทนเข้ายื่นหนังสือ ต่อรัฐบาล เมื่อช่วงเช้า เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ระหว่างการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
โดยมติที่ประชุม ก.ก.ถ. เห็นร่วมกัน กรณีที่อยู่ใน สสอ. สสจ. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป
"ที่ประชุมมีมติ จำนวน 222 คน ที่เสนอในที่ประชุม มอบให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อให้มีการ 'โอนย้าย' และให้รายชื่อทั้งหมดผ่านการพิจารณาของ อ.กพ.สธ."
โดย ให้โอนตามกฎ ก.พ. เพราะตามมติ อ.ก.พ.สธ. ซึ่งได้พิจารณาตามแนวทางควมเห็นของผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ในการประชุม ก.ก.ถ. เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565
ที่มีความเห็นว่า บุคลากรดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติภารกิจปฐมภูมิ ซึ่งจะกระทบกับการให้บริการแก่ประชาชนในโรงพยาบาลนั้น ให้มีการดำเนินการต่อไปนี้
1. มอบให้ สธ. พิจารณาตรวจสอบร่วมกับ อบจ. ที่บุคลากร สธ. แจ้งความประสงค์ถ่ายโอนไป อบจ. เพื่อให้ได้ทราบข้อมูลการโอนบุคลากรโดยชัดเจน โดยการอนุมัติการโอนให้เป็นหน้าที่และอำนาจของผู้บังคับบัญชาเบื้องต้น
(สสอ. สสจ. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป) และ สธ. โดย อ.ก.พ.สธ. ซึ่งให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 2 ต.ค. 2566 ให้สอดคล้องกับ อบจ. ที่รับโอนบุคลากร
2. ให้บุคลากรโอนปกติโดยความสมัครใจดังกล่าว เพื่อไปปฏิบัติงานใหม่ที่องค์กรอครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับโอนต้องได้รับสิทธิประโยชน์และความก้าวหน้าไม่ต่ำกว่าที่เคยได้รับอยู่ที่เดิม
รวมถึงสถานภาพและสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องของสมาชิกกองทุนบำเหน็จข้าราชการ (กบข.) เหมือนกับบุคลากรที่ถ่ายโอนตามที่แผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 2 กำหนดไว้
3. ให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบฯ ให้ อบจ. ในการรับโอนเพื่อสรรหาบุคคลทดแทนตามโครงสร้างและอัตรากำลังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมิทราชินี (สอน.)
ที่ได้รับการถ่ายโอนตามที่ประกาศ ก.ก.ถ. เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจ สอน.และรพ.สต. ให้แก่ อบจ. ลงวันที่ 5 ต.ค. 2564 กำหนดไว้
"เมื่ออนุมัติแล้ว บุคลากร 5 หน่วยงาน ที่ทำหนังสือโอนย้ายแล้ว จะถือว่าออกจาก สธ. ซึ่ง อบจ. จะเข้ามารับช่วงต่อทันที ด้วยการให้ข้าราชการถ่ายโอน ซึ่ง สำนักงบประมาณ จะจัดสรรงบประมาณสำหรับจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับบุคลากรเหล่านี้ และไม่นับรวมในสัดส่วน 40%"
กรณีบุคลากรที่ปฏิบัติงานภารกิจด้านปฐมภูมิ ที่สมัครใจและมีความประสงค์ต้องการถ่ายโอนไปยัง รพ.สต. สังกัด อบจ. ให้ดำเนินการตามความประวงค์ของบุคลากรที่สมัครใจถ่ายโอน
เนื่องจากเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจด้านปฐมภูมิตามประกาศ ก.ก.ถ. เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ลงวันที่ 5 ต.ค. 2564 กำหนดไว้
กรณี ที่ สธ. ขอเสนอให้ขยายระยะเวลาการส่งรายชื่อผู้ที่สมัครใจและมีความประสงค์ต้องการถ่ายโอนในปีงบฯ 2568 จนกว่าจะมีการแก้ไขแนวทางและหลักเกณฑ์การถ่ายโอนบุคลากรเสร็จเรียบร้อย
เห็นสมควรให้ดำเนินตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ ในครั้งประชุมที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ประกอบกับแนวทางการบริหารจัดการบุคลากรตามมติที่ประชุม ก.ก.ถ. ครั้งนี้ ต่อไป
มีรายงานว่า นายสมศักดิ์ ในฐานะ ประธาน ก.ก.ถ. ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเร็วที่สุด โดยเสนอให้บุคลากร ทำหนังสือช่วยราชการไปพลางก่อน แต่จะได้รับเงินเดือน พร้อมกับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ เหมือนเดิม โดย ทั้ง 222 คน จะทำหนังสือขอโอนย้าย และเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ
"ต่อไปถ้ามีปัญหา ขอให้เชิญหน่วยงานราชการเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ให้จบในชั้นคณะอนุกรรมการฯ ก่อนรายงาน ก.ก.ถ. เช่น กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ มาให้ข้อมูลเพื่อหาทางออกก่อน"รายงานข่าวระบุ