กรมโยธาธิการและผังเมือง แจงการตรวจสอบของ สตง. เป็นการตรวจผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน – เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำภายในประเทศ
ตามที่ปรากฏข่าวสารประเด็น สตง.ชำแหละย้อนหลัง 5 ปี เมกะโปรเจกต์ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” กระทรวงมหาดไทย เฉพาะงานป้องกันน้ำท่วม กว่า 549 โครงการ คาดมีวงเงินบริหาร เกือบ 2 หมื่นล้าน เน้น 2 แผนหลัก ป้องน้ำกันท่วมพื้นที่ชุมชน-ก่อสร้างเขื่อนป้องตลิ่งริมแม่น้ำ สุ่มแค่ 10 จังหวัด พบปัญหาเพียบ! ทั้งออกแบบ สำรวจ ไม่ครอบคลุมสภาพปัญหาพื้นที่ แถมป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ ตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะพังทลาย พบกว่า 342 โครงการ สร้างล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน นั้น
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ชี้แจงว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ดำเนินการตรวจสอบ “ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2565” จำนวน 637 โครงการ แบ่งเป็น โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน จำนวน 68 โครงการและโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำภายในประเทศ จำนวน 569 โครงการ
โดย สตง. ได้สุ่มตรวจตัวอย่างสภาพพื้นที่จำนวน 64 โครงการ พบว่ามีการก่อสร้างเป็นไปตามรูปแบบของสัญญาจ้าง แต่มีโครงการที่ยังไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมและป้องกันการพังทลายของตลิ่งได้ จำนวน 9 โครงการ ซึ่งพบว่ามีสาเหตุจาก 1. สภาพโครงการที่มีการชำรุด เนื่องจากผ่านการใช้งานในช่วงฤดูน้ำหลาก อาทิ พื้นดินใต้ทางเท้าเกิดการทรุดตัวเป็นโพรง หินเรียงหน้าเขื่อนสูญหายจากกระแสน้ำช่วงอุทกภัย 2. การก่อสร้างในพื้นที่ของหน่วยงานอื่น ไม่เป็นไปตามแผนงาน อาทิ การไม่สามารถยกระดับถนนของหน่วยงานอื่นให้สูงขึ้นเพื่อเป็นคันป้องกันน้ำท่วม หรือหน่วยงานเจ้าของพื้นที่มีแผนจะดำเนินการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมเอง แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณล่าช้า ทำให้คันป้องกันน้ำท่วมของกรมฯ ที่มีจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่ของหน่วยงานอื่น ไม่สามารถปิดล้อมพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ทั้งหมด และ 3. ขาดการบริหารจัดการและดูแลรักษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ใช้งานระบบป้องกันน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่
สำหรับโครงการที่ สตง. พบว่ามีการดำเนินการก่อสร้างล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน จำนวน 342 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 53.69 นั้นสาเหตุเกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมงานก่อสร้าง ทั้งการห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน การสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง รวมไปถึงการหยุดผลิตวัสดุก่อสร้างของโรงงานต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลในช่วงเวลานั้นได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ให้ได้รับการผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาก่อสร้าง โดยการคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 จึงทำให้แผนงานได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไป ซึ่งเมื่อเทียบกับแผนงานเดิมจึงล่าช้า แต่ถ้าเทียบกับแผนงานที่ได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้างจะถือว่าไม่ล่าช้า ซึ่งกรมฯ ก็ได้มีการเร่งรัดให้ผู้รับจ้างเข้าทำงานโดยเร่งด่วนหลังจากสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ โดยให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้าง
ทั้งนี้ หลังจากการตรวจสอบโครงการดังกล่าวแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำ รวมทั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า สตง. ได้ให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับมอบโครงการ สำรวจและประเมินความพร้อมของระบบป้องกันน้ำท่วมและเขื่อนป้องกันตลิ่งเป็นประจำทุกปี เพื่อทราบถึงความพร้อมใช้งานและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือแนวทางการขอรับการสนับสนุนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง
2. ขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียด ควรกำหนดให้มีการสำรวจหรือตรวจสอบแผนการดำเนินงานและข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ของพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างให้ครบถ้วน และควรกำหนดให้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งก่อนการขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อทราบถึงความพร้อมของพื้นที่
3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคู่มือหรือแนวทางการปฏิบัติงานในการสำรวจและปรับปรุงแบบรูปรายการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานสำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดสภาพพื้นที่ หรือสภาพแวดล้อมของพื้นที่ดำเนินโครงการและความต้องการใช้ประโยชน์ของท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องการสำรวจชั้นดิน ความรุนแรงของกระแสน้ำ การปิดล้อมพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม เพื่อให้ระบบป้องกันน้ำท่วมและเขื่อนป้องกันตลิ่งมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์อย่างยั่งยืน
4. ในการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนในอนาคต ควรกำหนดให้มีการจัดทำคู่มือหรือเอกสารเกี่ยวกับแนวทางการใช้งานและบำรุงรักษาระบบป้องกันน้ำท่วมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับมอบโครงการ เช่น จุดเสี่ยงซึ่งไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องเว้นระยะการก่อสร้าง รูปแบบและวิธีการจัดทำคันป้องกันน้ำท่วมชั่วคราวที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจผลสัมฤทธิ์ฯ และให้คำแนะนำดังกล่าวนั้น สตง. มิได้ท้วงติงเรื่องการทุจริตแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมา ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี กรมฯ ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้สั่งการโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของ คัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ รวมทั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งหากพบจุดชำรุดหรือจุดเสี่ยงน้ำรั่วไหล ให้หาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนเป็นการชั่วคราว หากไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการซ่อมแซมได้ ขอให้สำรวจและจัดทำข้อมูลความเสียหาย ส่งให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมและบำรุงรักษา
สำหรับการศึกษาสำรวจและออกแบบงานก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมแต่ละโครงการ กรมฯ มีขั้นตอนในการรวบรวมข้อมูล การกำหนดองค์ประกอบโครงการ และการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เพื่อให้ทราบข้อมูลและหาข้อสรุปร่วมกันก่อนดำเนินการออกแบบรายละเอียด ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 กรมฯ จะได้มีมาตรการให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองความพร้อมของพื้นที่ดำเนินการ ก่อนของบประมาณดำเนินการก่อสร้าง
นอกจากนี้ กรมฯ ได้จัดอบรมการออกแบบ รวมทั้งจัดทำคู่มือและแนวทางการปฏิบัติงานในการออกแบบเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อให้บุคลากรของกรมโยธาธิการและผังเมือง มีความรู้ ความเข้าใจ ในขั้นตอนการสำรวจและออกแบบ สามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในทุกโครงการก่อสร้าง ได้มีการกำหนดให้จัดทำคู่มือการใช้งานและคู่มือการรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงได้จัดฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนส่งมอบโครงการทุกครั้ง ซึ่งกรมฯ จะได้กำชับการปฏิบัติต่อไป
ส่วนการจัดทำแนวทางการปฏิบัติ การบูรณาการพื้นที่ระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งการจัดทำคู่มือตามที่ สตง. ได้ให้ข้อเสนอแนะนั้น กรมฯ จะได้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้เป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการก่อสร้างของกรมฯ ยกระดับการมีผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี