สตง.ชำแหละย้อนหลัง 5 ปี เมกะโปรเจกต์ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” มหาดไทย เฉพาะงานป้องกันน้ำท่วม “ยุคบิ๊กป๊อก” คุมกว่า 549 โครงการ คาด มีวงเงินบริหารเกือบ 2 หมื่นล้าน เน้น 2 แผนหลัก ป้องน้ำท่วมชุมชน-สร้างเขื่อนป้องตลิ่งริมแม่น้ำ สุ่มแค่ 10 จังหวัด พบปัญหาเพียบ! ทั้งออกแบบ สำรวจ ไม่ครอบคลุมสภาพปัญหาพื้นที่ แถมป้องน้ำท่วมไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ ตลิ่งถูกนํ้ากัดเซาะพังทลาย พบกว่า 342 โครงการ สร้างล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน
วันนี้ (18 ต.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า สตง.เผยแพร่ ผลตรวจสอบ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
โดยเฉพาะงบประมาณที่จัดสรรลงโครงการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2565
โดยขณะนั้นอยู่ใน กำกับของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต รมว.มหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้หัวข้อ “ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยของกรมโยธาธิการและผังเมือง”
สตง.ตรวจสอบแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกรมฯ ผ่าน โครงการก่อสร้างระบบป้องกันนํ้าท่วมพื้นที่ชุมชน โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่นํ้าภายในประเทศ และโครงการวางผังการระบายนํ้าจังหวัดในลุ่มนํ้า
ตลอด 5 ปี สตง. พบว่า มีโครงการรวม 549 โครงการ เพื่อก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน 53 โครงการ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำภายในประเทศ 496 โครงการ
จากการสุ่ม 64 โครงการ ในพื้นที่ 10 จังหวัด พบ 9 โครงการ ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วม หรือการพังทลายของตลิ่งได้
“มี 8 โครงการ ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จากปัญหาที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่สามารถสร้างคันป้องกันน้ำท่วมปิดล้อมพื้นที่ป้องกันได้ ทั้งหมด 3โครงการ”
อีก 2 โครงการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขาดการดูแลรักษาผนังป้องกันไม่สามารถป้องกันน้ำเข้ามายังพื้นที่ป้องกัน อีก 1 โครงการประตูระบายน้ำชำรุด
ขณะที่การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่นํ้าภายในประเทศ 1 โครงการ พบสภาพปัญหาเนื่องจากสภาพพื้นที่ดำเนินโครงการเป็นคุ้งนํ้า จึงถูกกระแสนํ้าปะทะอย่างรุนแรง ส่งผลให้พื้นดินริมตลิ่งถูกนํ้ากัดเซาะและพังทลาย
นอกจากนี้ ยังพบ 8 โครงการ “ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำภายในประเทศ” ส่วนใหญ่สภาพทางเท้าของเขื่อนได้รับความเสียหาย และพื้นดินใต้ทางเท้าเกิดการทรุดตัวเป็นโพรง มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถป้องกันตลิ่งพังทลายไดํในอนาคต
“สภาพปัญหาข้างต้นส่งผลให้พื้นที่ชุมชน โบราณสถาน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และพื้นที่ชุมชน ภายในพื้นที่ป้องกันของโครงการได้รับความเสียหาย”
และประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมและตลิ่งพังทลาย ทั้งทางด้านความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการไม่เกิดความคุ้มค่า
สตง.พบสาเหตุ เช่น ผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ หรือการสำรวจ ยังไม่ครอบคลุมหรือเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่
เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการทดสอบสภาพชั้นดิน การกำหนดจุดเชื่อมต่อของโครงการเพื่อปิดล้อมพื้นที่ยังไม่เหมาะสม มีการออกแบบคันป้องกันน้ำท่วมตามโครงการให้เชื่อมต่อกับถนนทางหลวงที่มีระดับตํ่ากว่าคันป้องกันน้ำท่วม
ขาดการประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบ แถมยังขาดการคำนึงถึงทิศทางและความรุนแรงของกระแสน้ำที่ปะทะกับโครงสร้างของเขื่อน
ทำให้การกำหนดรูปแบบของเขื่อนป้องกันตลิ่งไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ส่งผลให้โครงสร้างของเขื่อนป้องกันตลิ่งบางช่วงชำรุด เป็นต้น
ยังพบ การขาดการสนับสนุนอุปกรณ์ในการติดตั้ง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ไม่สามารถติดตั้งใช้งานคันป้องกันนํ้าท่วมได้ อย่างสะดวกและรวดเร็ว
สตง. ยังพบว่า โครงการที่ได้รับการอนุมัติจัดสรรงบและสิ้นสุดสัญญาจ้างก่อสร้างภายในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวนรวม 637 โครงการ
แต่กลับก่อสร้างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผน ระยะเวลาการก่อสร้างที่กำหนด มีถึง 342 โครงการ (ร้อยละ 53.69)
ทำให้โครงการที่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนระยะเวลาการก่อสร้างที่กำหนด ในปีงบฯ 2565 มีถึง 252 โครงการ
จากปัญหาเช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่นํ้า มีถึง 217 โครงการ ที่มีระยะเวลามากกว่าแผนถึง 246 วัน และมีโครงการที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างมากกว่า แผนที่กำหนด 360 วัน หรือ 1 ปี จำนวน 51 โครงการ
พบเหตุจากมีการแก้ไขแบบรูปรายการระหว่างการก่อสร้าง เนื่องจากแบบรูปรายการมีความไม่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ของพื้นที่ดำเนินโครงการและความต้องการใช้ประโยน์ของท้องถิ่น เป็นต้น
จากสภาพปัญหาข้างต้น ส่งผลให้พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ พื้นที่โบราณสถาน พื้นที่บรรเทาทุกข์ รวมถึงพื้นที่ตลิ่งริมแม่นํ้าภายในประเทศไม่ได้รับการแก้ไข ป้องกันและลดผลกระทบ
จากปัญหานํ้าท่วม และน้ำกัดเซาะตลิ่งอย่างทันท่วงทีตามแผนระยะเวลาการก่อสร้างที่กำหนด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่โครงการก่อสร้างล่าช้าออกไป และแล้วเสร็จภายหลังจากผ่านฤดูนํ้าหลาก ไปแล้ว ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ภาครัฐมีความเสี่ยง ในการรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับบรรเทาเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหานํ้าท่วม
มีรายงานด้วยว่า ในรายงานของ สตง.ฉบับนี้ ไม่พบว่า มีการเปิดรายละเอียด “งบประมาณ” ที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับจัดสรร
แต่จากรายงาน ประจำปีงบ 2561-2565 ที่เผยแพร่ทางเวปไซด์ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง ตามแผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่งคง โครงการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย
พบว่า มีการจัดสรร เป็นค่าก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำตามชายแดนระหว่างประเทศ จำนวน 4,666.3216 ล้านบาท
แยกเป็น โครงการผูกพัน ปี 2561–2565 จำนวน 145 แห่ง โครงการผูกพันใหม่ ปี 2564-2566 จำนวน 51 แห่ง
แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ “โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำภายในประเทศ” จำนวน 8,551.6722 ล้านบาท
แยกเป็น เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำ โครงการผูกพัน ปี 2560-2565 436 แห่ง โครงการผูกพันใหม่ ปี 2564-2566 180 แห่ง และรายการใหม่ปีเดียว 10 แห่ง
โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน วงเงิน 4,356.2509 ล้านบาท ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม แยกเป็นโครงการผูกพัน ปี 2559-2564 จำนวน 56 แห่ง โครงการผูกพันใหม่ ปี 2564-2566 จำนวน 17 แห่ง
ศึกษาวางแผนหลักศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ โครงการผูกพัน ปี 2561-2564 จำนวน 15 แห่ง และโครงการผูกพันใหม่ ปี 2564-2566 จำนวน. 4 แห่ง.