xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.วันชัย” ย้ำ รธน.2560 ปรับปรุงมาจากฉบับปี 40 และ 50 เนื้อหาโดยรวมดีอยู่แล้ว อย่าเปลืองงบ-เปลืองเวลาแก้ทั้งฉบับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.วันชัย” เตรียมถามไทม์ไลน์แก้ไข รธน.จากคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติฯ 30 ต.ค.นี้ เชื่อ ประเด็นทำประชามติไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่รายละเอียดของการแก้ รธน.ต่างหากที่จะเป็นข้อถกเถียง ย้ำ รธน.2560 ปรับปรุงมาจากฉบับ 2540 และ 2550 โดยรวมใช้ได้อยู่แล้ว ไม่ควรเปลืองงบ-เปลืองเวลาแก้ทั้งฉบับ 

วันนี้ (24 ต.ค.) นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการหารือถึงแนวทางการทำประชามติ กับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ว่า มีประเด็นที่ กมธ.อยากแลกเปลี่ยนพูดคุย คือ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะใช้เวลานานเท่าใด จะแก้ประเด็นอะไร ส่วนที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะมีที่มาอย่างไร มาจากการเลือกตั้งมากน้อยหรือหลากหลายด้วยวิธีใด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องการทราบรวมถึงไทม์ไลน์ในขั้นตอนต่างๆ ด้วย

เมื่อถามว่า มองว่า การทำประชามติรอบนี้มีความขัดแย้งหรืออ่อนไหวหรือไม่ กรณีจะแก้ทั้งฉบับหรือยกเว้นบางมาตรา นายวันชัย กล่าวว่า การทำประชามติไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย เพราะประชามติเป็นคำถามเดียว ที่อาจถามว่าเห็นควรให้แก้รัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ร.หรือไม่ ดังนั้นจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลายอีกทั้งคำถามประชามติเป็นคำถามที่ทุกฝ่ายทุกกลุ่มเห็นด้วย ไม่ใช่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์

เมื่อถามว่า มีข้อเสนอถึงรายละเอียดของคำถามประชามติหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ต้องเป็นคำถามไม่ซ้บซ้อน ไม่ยุ่งยาก ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือปัญหาที่ตอบไปได้หลายทาง ต้องอ่านและเข้าใจรู้เรื่อง ตัดสินใจได้

“สิ่งสำคัญมาจากพรรคร่วม กมธ.มาจากหลายกลุ่ม เชื่อว่า ทุกอย่างที่ออกมาอยู่บนพื้นฐานการตัดสินใจร่วมกันของพรรคร่วมและฝ่ายค้าน ประเด็นคำถามประชามติไม่มีเหตุผลขัดแย้ง แต่การแก้ไขรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเป็นข้อขัดแย้ง ซึ่งต้องถกแถลงและเป็นข้อถกเถียงมากกว่าการทำประชามติ” นายวันชัย กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอที่จะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราแทนยกทิ้งทั้งฉบับ นายวันชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีอะไร เมื่อมาตรา 272 หมดสภาพไป ไม่มีอะไรต้องแก้ นอกจากรู้สึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือมาจากรัฐประหาร ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ตนมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปรับปรุงแก้ไขมาจากรรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 จนกลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 โดยรวมถือว่าใช้ได้และดีอยู่แล้ว

“การปรับ การแก้อะไร ถือว่าเร็วและดีกว่าไปลงทุนทำประชามติ 3 ครั้งหรือรวมการเลือก ส.ส.ร เป็น 4 ครั้ง ถือว่าสิ้นเปลืองงบ เปลืองเวลา สับสนมากไป ดังนั้นประเด็นมาตราอะไรที่พรรคการเมือง รัฐบาล ฝ่ายค้านอย่างแก้ ก็แค่นั้น” นายวันชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น