xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” ติดตามโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโกลก-มาเลย์ ยันทุกฝ่ายไม่เดือดร้อน เชื่อส่งออกพุ่ง 3 พัน ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รองนายกฯ สมศักดิ์” ลุยติดตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก-มาเลเซีย มั่นใจ ถ้าสะพานเสร็จ จะสร้างมูลค่าส่งออกสูงถึง 3,000 ล้านบาท ยอมรับ ต้องเคลียร์ชาวบ้าน ที่อาศัยบริเวณก่อสร้างด้วย ยัน ทุกฝ่ายต้องไม่มีใครเดือดร้อน

วันนี้ (20 ต.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. นายซาการียา สะอิ ส.ส.นราธิวาส พรรคภูมิใจไทย นายสัมพันธ์ มายูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ นายอามินทร์ มายูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ ได้ลงพื้นที่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก ไปยังประเทศมาเลเซีย

โดย นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก ได้มีมติ ครม.ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 ซึ่งมีความยาวของสะพานอยู่ที่ 1.134 กิโลเมตร แต่โครงการทั้งหมดมีระยะทางรวม 11.49 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นของฝั่งไทย 7.82 กิโลเมตร ฝั่งมาเลเซีย 3.67 กิโลเมตร ซึ่งจุดเริ่มต้นจะอยู่บริเวณสามแยกตากใบ สิ้นสุดที่จุดตัด 3 แยกระหว่างทางหลวงรัฐหมายเลข d134 กับ d167 บริเวณบ้าน kok semru ประเทศมาเลเซีย โดยความคืบหน้าล่าสุดเวลานี้ ฝ่ายไทยรับผิดชอบการออกแบบสะพานแล้วเสร็จตั้งแต่มิถุนายน 2554 ทำ EIA ในปี 2564 และได้ส่งให้มาเลเซีย พิจารณาแล้วตั้งแต่ปี 2559 แต่ยังไม่ได้การตอบรับจากฝ่ายมาเลเซีย เนื่องจาก ทางประเทศมาเลเซีย มีปัญหาในเรื่องงบประมาณ จึงขอชะลอโครงการออกไปก่อน และจะพิจารณาโครงการภายหลังเสร็จสิ้นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก อำเภอสุไหงโก-ลก แห่งที่ 2

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่ 2 อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส กับ รันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เรื่องนี้อยู่ในแผนพัฒนาของ ศอ.บต. โดยฝ่ายมาเลเซีย จะรับผิดชอบในการออกแบบสะพาน 116 เมตร คู่ขนานสะพานเดิมด้านทิศตะวันตก ส่วนงบประมาณฝ่ายไทยจะอยู่ที่ 160 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ได้มีการสำรวจพื้นที่ร่วมกันแล้วกับประเทศมาเลเซีย มีการสรุปการปรับแบบแก้ไข คาดว่า ฝ่ายมาเลเซียจะส่งแบบให้ไทยพิจารณาในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะมีการประชุมด้านเทคนิคในช่วงปลายปี 2566 ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม ก็มีหนังสือมาให้พิจารณาถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างสพะพาน เพราะเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีชาวบ้านเข้ามาพักอาศัยอยู่แล้วเป็นระยะเวลานาน โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องมีการพูดคุยกับชาวบ้าน เพราะเราต้องยึดประโยชน์ของชาวบ้านและสังคมเป็นหลัก ซึ่งโครงการนี้ทำได้ แต่ทุกฝ่ายต้องไม่มีใครเดือดร้อน โดยจากนี้ไปก็ต้องเดินหน้าเจรจา กับชาวบ้านว่าจุดไหนที่เขารับได้

“สะพานข้ามแม่น้ำบริเวณตากใบตรงจุดนี้ เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เพราะสามารถพัฒนาในเรื่องของการท่องเที่ยวได้ รวมถึงการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน ผมมองว่าเป็นประโยชน์ และถ้าด่านตรงนี้เสร็จ จะมีรายได้จำนวนมาก โดยสะพานข้ามแม่น้ำโกลก ต้องทำให้แล้วเสร็จ แต่ต้องไม่กระทบกับประชาชน เพราะถ้าหากแล้วเสร็จ ผมเชื่อว่า มูลค่าการส่งออกจะมีสูงถึงระดับ 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่ได้อยู่ 1,600 ล้าน นอกจากนี้ เรื่องการสร้างสะพาน ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจ ผมในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ หรือ กพต. จึงลงพื้นที่มาพูดคุยกับทุกภาคส่วน เพื่อสรุปข้อมูลไว้ล่วงหน้า เพราะการก่อสร้างสะพาน ต้องมีการสร้างอย่างอื่นรองรับอีกจำนวนมาก เช่น ถนน ทำให้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และการศึกษา ต้องรอทางการมาเลเซีย ตัดสินใจด้วย เพราะไม่ใช่รัฐบาลไทย เป็นผู้เลือกจุดสร้างสะพานเพียงลำพัง ทุกอย่างต้องพัฒนาพร้อมกันของทั้งสองประเทศ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ พร้อมคณะ ยังได้ลงเรือ ไปสำรวจเส้นทางในการก่อสร้างสะพาน พร้อมสำรวจบริเวณโดยรอบจุดก่อสร้าง เพื่อเตรียมแผนรองรับในการพัฒนาพื้นที่ต่อ ให้เชื่อมโยงกับการก่อสร้างสะพานด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น