xs
xsm
sm
md
lg

“ภูมิธรรม” นั่งหัวโต๊ะ เคาะแผนเร่งด่วน “อีอีซี” 8 ด้าน ดึงเงินเข้าประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ภูมิธรรม” นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเคาะแผน “อีอีซี” 8 ด้าน ดึงเงินเข้าประเทศผ่าน 5 อุตสาหกรรม ตั้งเป้าทำด่วนใน 99 วัน

เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 17 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2566 โดยมี น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกพอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

โดย กพอ.ได้พิจารณาร่างแผนดำเนินการในระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 66 ถึงเดือนกันยายน 67 และมีเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน ที่ลงมือทำจริงจัง เพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะใน 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ การแพทย์, ดิจิทัล, ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG), บริการ ในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ ซึ่งได้มีการพิจารณาเห็นชอบ ในเรื่องสำคัญทั้ง 8 ด้าน และมีมติ ดังต่อไปนี้ 1. ด้านนโยบาย จัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566-2570) ประกอบด้วย แนวทางพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ 1.1 ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม และบริการแห่งอนาคต 1.2 เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค 1.3 ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และนวัตกรรม 1.4 พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัย และเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ 1.5 เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน

2. ด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุน สร้างความพร้อมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยในเดือน ธ.ค. 66 อีอีซีจะมีการออกประกาศ กพอ. เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุมด้านภาษี และมิใช่ภาษี เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้น หรือลดหย่อนภาษีอากร การอนุญาตอยู่อาศัยในระยะยาว (EEC Long term VISA) เป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการกิจการ และทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ อาทิ ผู้มีความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ ตลอดจนคู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ เป็นต้น

3. ด้านการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุน ในเดือน ม.ค. 67 พัฒนาแหล่งระดมทุนอีอีซี (EEC Fundraising Venue) รองรับการระดมทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นหลัก

4. ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะได้ข้อยุติการเจรจา และแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในเดือน ม.ค. 67 เอกชนคู่สัญญาจะพร้อมเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการ

5. ด้านการจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ในเดือน ธ.ค. 66 จะยกระดับการให้บริการอนุมัติ อนุญาต ครอบคลุม 8 กฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อีอีซี ได้แก่ กฎหมายว่าด้วย การขุดดิน และถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร การสาธารณสุข คนเข้าเมือง การจดทะเบียนพาณิชย์ โรงงาน และการจัดสรรที่ดิน โดยจะเพิ่มการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้น หรือลดหย่อนภาษีอากร ซึ่งจะทำให้พื้นที่อีอีซี เป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก

6. ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ในเดือน ต.ค. 66 จัดตั้งเขตส่งเสริม : ศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ และนิคมฯ เอเพ็กซ์กรีนอินดัสเตรียล เอสเตท ในเดือน ม.ค. 67 จัดตั้งเขตส่งเสริม : การยกระดับการบริการสาธารณสุขในพื้นที่อุตสาหกรรมปลวกแดง (EEChc)

7. ด้านการเริ่มต้นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 
7.1 ลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ภายใน EECd : บริษัn CtrIS Datacenter
7.2 ลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ภายใน EECd : การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
7.3 MOU ต้นแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม และศูนย์ควบคุมการรีไซเคิลซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์

8. ด้านการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่และชุมชน
8.1 โครงการการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ (EEC Select)
8.2 จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี รีอีซี่ สร้างความเข้าใจในชุมชน
8.3 โครงการของเยาวชน อีอีซี สแควร์

สำหรับการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เห็นชอบ กรอบอัตราค่าเช่าและค่ารรรมเนียมอื่นใด กรอบสิทธิประโยชน์ พร้อมแผนปฏิบัติการ และเผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขับเคลื่อนรองรับนักลงทุน ที่แสดงความจำนงเข้าลงทุนในพื้นที่โครงการ EECd อาทิ บริษัท CtrIS สร้างธุรกิจ Data Center มูลค่าลงทุน 15,000 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดตั้งศูนย์อัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) มูลค่าลงทุน 60 ล้านบาท และบริษัท ALBA Asia Group Limited บริษัทชั้นนำด้านรีไซเคิล จากประเทศเยอรมนี มีแผนลงนาม MOU สร้างศูนย์ควบคุมและสั่งการด้าน Digital Waste Management ต้นแบบ มูลค่าลงทุน 1.4 พันล้านบาท ในปี 2567


กำลังโหลดความคิดเห็น