“ภูมิธรรม” แจง ตัด ส.ส.ออกจากกรรมการศึกษาแก้ รธน. ป้องกันปัญหายืดเยื้อ และผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่ให้เพื่อไทยคุมได้ อย่ามองในแง่ร้าย ทุกคนในคณะกรรมการมีเกียรติ
วันนี้ (10 ต.ค.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่สำนักงานกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ ส.ส.เป็นคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องดังกล่าวมีความเห็นที่แตกต่างและมีการท้วงติงเข้ามา โดยฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า เอา ส.ส.มาก็ไม่ต่างกับการตั้งวิปรัฐบาล และถือเป็นเรื่องทางวิชาการและสอบถามความเห็น จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร โดยกฤษฎีกาให้ความเห็นเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากกฎหมายตีความได้หลายแบบ จึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้ สส.มาร่วมคณะกรรมการดังกล่าว ดังนั้น จึงตัดออกเพื่อไม่ให้กระบวนการช้า
ผู้สื่อข่าวถามว่า กฤษฎีกาตีความว่าฝ่ายบริหารจะไปแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เขาพูดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และเพื่อไม่ให้ติดขัดในความเห็นที่แตกต่างจึงตัดชื่อออก ยอมรับว่าไม่มีปัญหา แต่ทําเพื่อให้กระบวนการเร็วขึ้นและปราศจากข้อสงสัย
เมื่อถามว่า สาเหตุดังกล่าวเป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาดูเรื่องนี้ให้หรือไม่ เพราะเริ่มต้นก็เกิดความผิดพลาดแล้ว นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่ข้อผิดพลาด เพราะรองเลขาธิการกฤษฎีกาก็อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ แต่เรื่องนี้เป็นความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งในทางกฎหมายเห็นต่างกันได้อยู่เสมอ
เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคเพื่อไทย ทําให้สามารถคุมได้และจะส่งผลให้รัฐธรรมนูญออกมาไม่ชอบธรรม นายภูมิธรรม กล่าวว่า มองในแง่ร้ายเกินไป ต้องให้ให้เกียรติคณะกรรมการที่มาด้วย เพราะที่เชิญมาก็เป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตรองอัยการสูงสุด นักวิชาการก็มีชื่อเสียง ที่บอกว่าพรรคเพื่อไทยคุมได้ก็ไม่เป็นความจริง เพราะทุกคนได้รับการยอมรับจากสังคม และเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนทุกคน ทุกคนมีเกียรติยศมากเพียงพอที่จะไม่เอาสิ่งเหล่านี้ไปสร้างปัญหาเพื่อเสื่อมเสียเกียรติยศและชื่อเสียงของตัวเอง
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมคณะกรรมการนัดแรกในวันนี้ เวลา 13.30 น. จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับกรอบและไทม์ไลน์ของการทำงานที่ชัดเจนขึ้นว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ และนอกจากนี้ ยังมีหลายเรื่องที่จะพูดคุยกัน เช่น จะแก้ทั้งฉบับ แต่ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 จะถือเป็นการแก้ทั้งฉบับหรือแก้ไขรายมาตรา แต่หากเป็นการแก้ไขรายมาตรา อาจจะต้องมีการยื่นแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกัน