xs
xsm
sm
md
lg

“อดีตบิ๊ก ศรภ.” ชี้ สงคราม “ฮามาส-อิสราเอล” มีเบื้องลึก อย่าถลำหนุนใคร “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” แนะ ฟังนักการทูต - ฝ่ายความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ไฟสงครามระหว่าง “ฮามาส-อิสราเอล” จากแฟ้ม
“อดีตบิ๊ก ศรภ.” เผย สงคราม “ฮามาส-อิสราเอล” มีเบื้องลึกเบื้องหลัง ไม่ควรถลำเป็นตัวประกอบสนับสนุนใคร “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” แนะ “ต้องฟัง นักการทูต - ฝ่ายความมั่นคง” “ดร.สุวินัย” ฝากรัฐบาลระวังแสดง “จุดยืน” ความคิดเห็น
 
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(9 ต.ค.66) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ "สงครามฮามาส-อิสราเอล และ CNN การละคร" ระบุว่า

“สงครามระหว่าง ฮามาส กับ อิสราเอล นั้น วันนี้เรายังดูไม่ออกหรอกครับว่าใครผิดใครถูก เรื่องมันซับซ้อนกว่า ข่าวใส่ไข่ของ CNN เสนอมาแยะเลย ลองดูง่ายๆ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลนายเนทันยาฮู กำลังตกที่นั่งลำบาก ชาวอิสราเอลกว่าแสนคนลงเดินขบวนประท้วงเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการเข้าไปแทรกแซงอำนาจศาล

นอกจากนั้น อิสราเอลกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบในเขตเวสท์แบงค์ที่ยืดเยื้อมานาน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน รวมถึง ปัญหาด้าน อื่นๆอีก เช่น การสั่งปลดนายกัลแลนท์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลออกจากตำแหน่ง ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่ออิสราเอลเลย

อะไรจะยุติการเดินขบวนต่อต้านเรื่องนี้ลงได้ ถ้าไม่ใช่ “สงครามระหว่าง ฮามาส กับ อิสราเอล” และต้อง “ใหญ่พอสมควร” ด้วย จึงจะทำให้ชาวอิสราเอลรวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้น ลืมเรื่องการต่อต้านรัฐบาลไปก่อน

ภาพ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ จากแฟ้ม
ทางด้านฮามาส ก็โม้ว่า ใช้จรวดโจมตีอิสราเอลไป 5,000 ลูกแล้ว ก็สงสัยว่าจะเอาจรวดจากที่ไหนมาครับ นอกจากซื้อมาจากทหารยูเครน แต่ก็คงได้ไม่มากนัก ดังนั้นถ้าทำเรื่องนี้ให้ใหญ่โตได้ ฮามาสกัดฟันรบต่อไปอีกหน่อย เงินช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศอิสลามและอาวุธ ก็จะหลั่งไหลเข้ามา

เรื่องสงครามครั้งนี้จะเป็นเรื่องจริง หรือเป็นแค่การแสดงละครของทั้ง 2 ฝ่าย อีก 5-7 วันก็น่าจะรู้ครับ อย่าลืมว่า แม้ฮามาสกับอิสราเอลจะโกรธเคืองกันมานานแล้ว แต่อิสราเอลก็เคยสนับสนุนให้เกิดกลุ่มฮามาสขึ้นมาก่อน แต่เมื่อก่อเหตุร้ายแรงขึ้นแล้ว ทั้ง2ฝ่ายก็ต้องภาวนาเอาเองเพราะจะไม่มีใครรู้ว่าเหตุรุนแรงตรงนี้ เมื่อไรจะยุติลง

อะไรๆก็เป็นไปได้ทั้งนั้นครับ

กรณีนี้ ประเทศเล็กในกลุ่มอาเซียนจึงไม่ควรถลำเข้าไปเป็นตัวประกอบการแสดงละคร โดยการสนับสนุนใครเป็นเรื่องดีที่สุดครับ”

ภาพ นายนันทิวัฒน์ สามารถ จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ระบุว่า

“สงครามยิว/ปาเลสไตน์

การสู้รบระหว่างปาเลสไตน์และยิว ครั้งใหม่นี้

มีคำถามว่า.

ปาเลสไตน์ไปเอาจรวดจำนวนมากมาจากไหน ทำไมระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอล ไม่สามารถสกัดกั้นจรวดฮามาส ข่าวกรองอิสราเอลล้มเหลวหรือถึงไม่มีการแจ้งเตือน

มีข่าวลือว่า อาวุธจำนวนมากของฮามาสเป็นอาวุธที่ได้มาจากยูเครน แปลว่า อาวุธที่ยูเครนได้จากตะวันตก ถูกถ่ายเท ลักลอบขายให้ฮามาส ข่าวลือนี้จะจริงหรือไม่. ไม่นานมีคำตอบ

หากข่าวลือนี้เป็นจริงรัฐบาลตะวันตกคงจะหนาวๆร้อนๆ ความช่วยเหลือยูเครนอาจต้องถูกทบทวน หรือยูเครนอาจจะถูกปล่อยเกาะ รัฐบาลอิสราเอลประกาศเข้าสู่ภาวะสงคราม หมายความว่า สงครามจะรุนแรงขึ้นแน่นอน อิสราเอลคงจะปิดน่านฟ้า เครื่องบินทุกชนิดคงเข้าออกไม่ได้ การอพยพคนไทยอาจต้องล่าช้าออกไป

ไทยคงต้องประสานผ่านสถานทูตปาเลสไตน์ ให้ดูแลความปลอดภัยคนไทยที่ถูกฮามาสจับกุมตัวไป

การเมืองระหว่างประเทศไม่ใช่อะไรง่ายๆ อย่างที่นักการเมืองเข้าใจ จะคิดเองเออเองไม่ได้ ต้องฟังนักการทูตและฝ่ายความมั่นคง”

ภาพ ดร.สุวินัย ภรณวลัย จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์แถลงการณ์สถาบันทิศทางไทยผ่านเฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ระบุว่า

“ขอให้บุคคลและหน่วยงานภาครัฐพึงระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและสงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

สถาบันทิศทางไทยขอแสดงความเสียใจ ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางที่กำลังดำเนินไป ณ ขณะนี้ และขอชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้ตัดสินใจช่วยเหลือแรงงานไทยและคนไทยที่อยู่ในพื้นที่อย่างทันท่วงที สถาบันทิศทางไทยปรารถนาให้ความรุนแรงและการตอบโต้ด้วยกำลังอาวุธของทั้งสองฝ่ายยุติลงโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ การแสดงท่าทีความคิดเห็นหรือจุดยืนของบุคคลและหน่วยงานของรัฐบาลไทยพึงต้องไม่มีส่วนในการขยายวงของความขัดแย้งและความรุนแรงออกมาให้มากขึ้น

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสลามกับอิสราเอลนั้นเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน และเปราะบางต่อสถานการณ์การเมืองของโลกเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้บุคคลและหน่วยงานของรัฐบาลไทยพึงระมัดระวังในการแสดงท่าที จุดยืน ความคิดเห็นที่ ‘เท่าทัน’ กับสถานการณ์จากอดีตถึงปัจจุบัน และไม่แสดงความคิดเห็นอันใดที่จะโหมกระพือไฟสงครามให้คุโชนยิ่งขึ้น และดึงประเทศไทยเข้าไปร่วมกับความขัดแย้งใดๆ”


กำลังโหลดความคิดเห็น