xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์ เจียม” หยัน “อดิศร-พท.” พึ่ง “ศาล รธน.” ที่เคยโจมตีเผด็จการ “สมชาย” เปิดหลักฐาน ขับ “หมออ๋อง” แต่ไม่ปลดฝ่ายการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากแฟ้ม
ซัดทุเรศสิ้นดี! “สมศักดิ์ เจียม” หยัน “อดิศร-พท.” พึ่ง “ศาล รธน.” ที่เคยโจมตีเผด็จการ “สมชาย” ชี้ช่องยื่นยุบ “ก้าวไกล” พร้อมเปิดหลักฐาน ขับ “ปดิพัทธ์” แต่ไม่สั่งปลดฝ่ายการเมือง “บก.ลายจุด” วอน “พท.” อย่ายื่นดาบให้เพชฌฆาต


น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (3 ต.ค.) เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ลี้ภัยคดี ม.112 ในฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบุว่า

“เห็นอดิศรและเพื่อไทยหันมาพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยปฏิเสธว่า เป็นองค์กรเผด็จการในกรณีหมออ๋อง แล้วทุเรศสิ้นดี”

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 15.18 น.วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่รัฐสภา นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานวิปรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุมวิปรัฐบาล ว่า จากเดิม มติพรรคเพื่อไทย จะเสนอญัตติด่วน ให้พิจารณาถึงความเหมาะสม ของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 ภายหลังถูก พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ขับออกจากพรรค แต่จากการหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาล เห็นว่า ไม่ควรนำเรื่องนี้มาพูดคุยที่ประชุมสภาฯ เพราะอาจโดนครหา เรื่องเสียงข้างมากลากไป ฉะนั้น จึงมีมติว่า จะใช้ช่องทางยื่นไปยังองค์กรอิสระแทน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเบื้องต้น การขับ นายปดิพัทธ์ ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของพรรคก้าวไกล ข้อ 64(5) ที่กำหนดว่า จะขับออกได้ก็ต่อเมื่อทำผิดวินัยร้ายแรง หรือผิดจรรยาบรรณ หรือมีเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ซึ่งก็ไม่ได้เข้าเงื่อนไขใด

ภาพ นายสมชาย แสวงการ จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก สมชาย แสวงการ ของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. โพสต์ ข้อความระบุว่า

“เก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านvsรองประธานสภา
#ก้าวไกลการละคร หรือ #นิติกรรมอำพราง
#หลักฐานสำคัญ

การขับออกจากพรรคก้าวไกล เพราะหมออ๋องต้องการรักษาเก้าอี้รองประธานสภาคนที่ 1 ไว้ คงเป็นเรื่องถกเถียงถึงความถูกต้องกันต่อไปอีก

แต่มีประเด็นสำคัญที่พรรคก้าวไกลอาจหลงลืมหรือไม่

เพราะคำสั่งแต่งตั้งคนในพรรคก้าวไกลเป็นข้าราชการการเมืองและคณะกรรมการต่างๆ

อาจกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่มีผู้ใช้นำไปร้องยัง กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

เพราะตรวจดูรายชื่อเบื้องต้นแล้วหลายคน ยังเป็นผู้บริหาร กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคก้าวไกล อยู่

หากนับจากวันที่หมออ๋องถูกพรรคขับขับออกตั้งแต่ 28 ก.ย.มาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงปลดออกหรือขับออก

อาจถูกตั้งคำถามว่า นี่คือ “นิติกรรมอำพราง” หรือไม่

ตรวจสอบรายชื่อดูครับ
1) พล.ต.ต ดร.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กรรมการและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
2) นายพงษ์สรณัฐ ทองลี เลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง
3) ปกรณ์ อารีกุล ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล นครศรีธรรมราช เขต 1
4) นายไกลก้อง ไวทยการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาโปร่งใสและสมรรถนะสูง ของรองประธาน
5) นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปรึกษาประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาโปร่งใส และที่ปรึกษารองประธาน
6) น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ อดีต ส.ส ที่ลาออกไป ปัจจุบันถูกตั้งเป็นกรรมการบริหารชุดใหม่ของพรรค เป็นต้น

พฤติกรรมและการกระทำดังกล่าว อาจถือเป็นหลักฐานที่นำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงและอาจมีไปผู้ร้องว่า เข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 46 ประกอบมาตรา 92(3) แห่งพรป.พรรคการเมือง 2560 นำไปสู่การอาจถูกยื่นยุบพรรคด้วย

งานนี้น่าจะได้ไม่คุ้มเสียนะครับ”

ภาพ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก สมบัติ บุญงามอนงค์ ของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด โพสต์ข้อความระบุว่า

“สิ่งที่ผมจะเขียนต่อจากนี้ ผมขอเรียกว่าความปรารถนาดี

พรรคเพื่อไทยอย่าส่งเรื่องกรณีหมออ๋องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล หากคุณเห็นว่า มันไม่ถูกต้องหรือพอเป็นช่องในการตอบโต้กันทางการเมือง ให้ใช้โอกาสนี้วิพากษ์วิจารณ์ในระดับที่เหมาะสม ว่ากันไปตามวิถีทางการเมือง อย่าไปล้มโต๊ะล้มพรรคเขา อย่ามีส่วนร่วมใดๆ กับการทำลายล้างในระดับที่พรรคก้าวไกลต้องโดนยุบ อย่าชง อย่าส่งบอล หรือยื่นดาบให้เพชฌฆาต

เพื่อไทยต้องแสดงวุฒิภาวะทางการเมืองที่ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านการถูกบ่อนทำลายในทุกรูปแบบ อย่านำพรรคกลืนไปกับมนต์ดำทางการเมืองแล้วกลายเป็นพรรคในแบบเดียวกับที่ประชาธิปัตย์เคยทำกับเพื่อไทย ให้ทุ่มเทไปกับการบริหารประเทศใช้สิ่งนี้เป็นผลงานที่จะแย่งชิงหัวใจของประชาชนกลับคืน และหากก้าวไกลจะล้มก็ให้เขาลื่นล้มด้วยตนเอง เพื่อไทยอย่าไปมีส่วนร่วม

ด้วยความปรารถนาดีจริงๆ”


กำลังโหลดความคิดเห็น