ทสท.กระทุ้ง สพฉ.เร่งแก้ปัญหาค้างจ่ายเงินกู้ภัย “ศิธา” ฝากถึง “เศรษฐา-ชลน่าน” ถ้ารัฐบาลดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง ก็ต้องจัดสรรงบให้อาสาสมัครช่วย
วันนี้ (28 ก.ย.) น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเมือง พร้อมด้วย นายชัชวาล แพทยาไทย ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 7 และคณะทำงานพรรคไทยสร้างไทย รับหนังสือร้องเรียนจากทีมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ภัย กรณีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ค้างจ่ายเงินสนับสนุนมากว่า 8 เดือน
นายชัชวาล กล่าวว่า ตนเองได้หารือในสภาผู้แทนราษฎรถึงการค้างเงินค่าเคสของ สพฉ. แล้ว และวันนี้จะมีการตอบกระทู้เฉพาะของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยเรียกร้องเงินตอบแทน แต่เงินนี้เป็นค่าสนับสนุนตามกฎหมายที่ให้ สพฉ. จ่ายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศด้วย พวกเราจึงมาเป็นตัวแทนติดตามค่าชดเชยให้ทีมอาสาสมัครเพื่อให้มีกำลังใจในการทำงาน ก่อนหน้านี้ ได้มีการทวงถามไปที่ สพฉ. แล้วก็ได้คำตอบกลับมาว่าตอนนี้ยังมีงบประมาณอยู่ 1,050 ล้านบาท แต่มีปัญหาเรื่องระบบการตรวจสอบซึ่งจะมีการทยอยจ่ายเงินที่ค้างจ่าย แต่ทุกวันนี้มีเพียงแค่การจ่ายเงินรอบปัจจุบันทแต่ยังไม่ได้จ่ายที่ค้างจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคมที่รวมแล้วกว่า 800 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะไม่หยุดวิ่งรถกู้ภัยและจะไม่เอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน แต่จะเรียกร้องภาครัฐให้จัดการเรื่องอย่างเร่งด่วน
น.ต.ศิธา กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสวัสดิการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อการสนับสนุนจากภาครัฐไม่เข้มแข็งพอ ก็ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่เข้ามาทำในกรณีฉุกเฉินต่างๆ และภาครัฐที่ไม่สามารถทำได้เองอย่างทั่วถึงก็ต้องมีเงินสนับสนุนเป็นกลไกอย่างหนึ่ง แม้ว่าอาสาสมัครจะได้รับเงินสนับสนุน 350 บาท/เคส แต่ก็ต้องใช้อุปกรณ์ รถ ค่าน้ำมัน และค่าอบรมเอง พอหยุดเงินสนับสนุนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ทำให้หลายหน่วยงานวิ่งต่อไปไม่ได้ อยากฝากไปถึงรัฐบาลให้ช่วยดูแลตรงนี้ เพื่อให้ทุกคนที่มาทำงานอาสาเพื่อประชาชนมีลมหายใจต่อไปได้ เช่นเดียวกับกรณีช่วงกาาระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็มีเงินงบประมาณสนับสนุนบุคคลากรทางการแพทย์กว่า 2 แสนล้านบาท บางคนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ พอไปทวงถามก็บอกว่าเงินหมดแล้ว
ทั้งนี้ ตนขอฝากไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า นโยบายการแพทย์ฉุกเฉินทั้งภาคพื้นและทางอากาศ ตนเห็นด้วย แต่เรื่องที่ต้องชี้แจงให้ชัดเจนคือการใช้งบ ไม่ว่าจะเป็นงบลับ งบฉุกเฉิน และที่สำคัญกว่านั้นคืองบประมาณที่ให้กับประชาชนที่อาสาเสียสละมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในวันที่กลไกของภาครัฐไม่ครอบคลุม แต่ถ้าเราไม่จ่ายเงินสนับสนุนเขาก็อยู่ไม่ได้ และอีกหน่อยอาสาสมัครก็จะน้อยลง แต่การจัดสรรแบ่งงบประมาณตั้งหลายล้านล้าน ออกมาดูแลคนที่เขามีจิตอาสาช่วยเหลือรัฐบาล ช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลจะเบาแรงและใช้งบประมาณแผ่นดินคุ้มค่า น้อยกว่าที่ควรจะเป็นอีกมาก
“ถ้าท่านดูแลประชาชนได้ตามรัฐธรรมนูญ ตามสิทธิที่เขาควรได้รับ ประชาชนไม่ต้องมาเหนื่อยยากขนาดนี้ นี่เขามีควาสมัครใจมาดูแลให้แล้ว ถ้าท่านดูแลเขาได้ดี คนเหล่านี้จะเป็นกระบอกเสียงให้ท่านด้วยซ้ำ เราไม่ได้เสียดายคะแนนเสียง ถ้ารัฐบาลทำได้ดี เขาจะสนับสนุนท่านเพราะประชาชนอยู่ดีกินดี เราก็เห็นดีด้วย“ น.ต.ศิธา กล่าว