“หมอวรงค์” ซัด “ก้าวไกล” พรรคนี้เมื่อคนของตัวเองทำผิดมักโทษกฎหมายเอาตัวรอด แทนที่จะสำนึกผิด “ปธ.ผู้ลี้ภัย” แนะ “ปิยบุตร” ยอมรับคำวิจารณ์ ด่าทอ ดั่งหินผายืนทนแดดทนฝนพายุลมแรง “อดิศร” ร่ายกลอนเสี้ยม เจ็บแสบ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 ก.ย. 66) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“พรรคนี้เมื่อคนของตนเอง โฆษณาคราฟท์เบียร์ ก็ด่ากฎหมาย มีคนถูกตัดสิทธิสมัคร ส.ส. เพราะโพสต์จาบจ้วง ก็ด่ารัฐธรรมนูญ
ผมอยากเตือนพวกคุณว่า สังคมมีขื่อมีแป การเคารพกฎหมายเคารพกติกาบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญ จะนำความสงบสุขมาสู่ประชาชน
โดยเฉพาะประเทศไทย เป็นประเทศประชาธิปไตย ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ การสร้างความเคารพนับถือ สถาบันจึงเกิดขึ้นกับคนไทย
แต่คนพวกนี้แทนที่จะมีสำนึกเมื่อทำผิด กับโทษกฎหมาย หรือโทษรัฐธรรมนูญ ผมบอกได้เลยว่า แม้จะมีขบวนการต่างชาติสนับสนุนพวกคุณ ถึงที่สุดคนไทยก็จะไม่ยอม”
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 66 ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล พร้อมเพื่อน ส.ส.ภายในพรรค แถลงข่าวกรณีศาลฎีกาพิพากษา น.ส.พรรณิการ์ วาณิช อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต ว่า จากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ วันนี้ ตนและเพื่อนผู้แทนราษฎรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงมาแถลงต่อสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชน ในฐานะผู้แทนราษฎรที่เคยอภิปรายเรื่องหลักยุติธรรม รวมถึงโครงสร้างประเทศที่ใช้นิติสงครามเข้ามาดำเนินการกับนักการเมือง
“คำถามคือ ปราบโกงหรือปราบใคร นี่คือ สิ่งที่ผมถามในวันนี้ เพราะเนื้อแท้แล้วเราพบว่ามันคือปัญหาที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ที่ได้สร้างกลไกใหม่ไว้จัดการนักการเมือง นั่นคือ มาตรฐานทางจริยธรรมโดยกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ไต่สวนกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะสูงส่งแค่ไหนเราไม่ทราบ ส่งผลให้ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรีอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมนี้ด้วย และมีสิทธิ์ที่จะไปออกมาตรฐานขององค์กรของตนเองขึ้นมา” นายปิยรัฐ กล่าว
นายปิยรัฐ กล่าวต่อว่า ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี มีปัญหาข้อพิพาทใดๆ ก็ตาม เรื่องจริยธรรมในตัวบทกฎหมาย ไม่ได้จบเพียงแค่องค์กรนั้น หรือคณะนั้นที่จะดำเนินการเอาผิดทางวินัยทางจริยธรรมภายในองค์กรของตนเอง แต่กลับให้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรค 3 วรรค 4 ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระใช้ในการวินิจฉัยส่งเรื่องต่อ หรือดำเนินการวินิจฉัยเอาผิดกับนักการเมืองเหล่านั้นได้ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาก มีทั้งปัญหาในเรื่องความไม่ได้สัดส่วนของความผิดการลงโทษ รวมถึงการลงโทษซ้ำซ้อน พูดง่ายๆ ว่า มีโทษทางการเมืองไปแล้ว แต่ก็ยังมีโทษตัดสิทธิ์ย้อนหลังไปอีก
ปัญหาอยู่ที่เราใช้มาตรฐานจริยธรรมองค์กรอิสระมาใช้กับนักการเมืองซึ่งแน่นอนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต่อไปนี้เราจะต้องตั้งคำถามกับองค์กรอิสระด้วยว่า ในอดีตนั้นเคยผิดจริยธรรมหรือไม่ที่ดำรงตำแหน่งในวันนี้ ดังนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างแท้จริง
“เพราะความผิดของคุณพรรณิการ์ ถ้าเราดูดีๆ เป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังมีรายละเอียดซับซ้อนกว่านั้นมาก ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เพราะไม่ได้ปราบโกงจริงๆ แต่กลับเปิดโอกาสให้มีการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลั่นแกล้งทางการเมือง รวมถึงการใช้ให้เป็นเครื่องมือในการปราบนักการเมือง ที่เขาเรียกว่านักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน นักการเมืองที่ไม่ยอมอยู่เป็น สยบยอมอยู่ภายใต้กฎหมายนี้” นายปิยรัฐ กล่าว...
ขณะเดียวกัน นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประธานสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน ซึ่งลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า
“ถึงปิยบุตร บุคคลสาธารณะต้องยอมรับการวิจารณ์ กระทั่งการด่าทอ เพราะถ้าพูดถูก นำมาแก้ไข ถ้าผิด ไว้เตือนใจ ขอเป็นกำลังใจ จงเป็นหินผายืนทนแดดทนฝน พายุลมแรง”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า
“เมื่อดวงตา เห็นธรรม จำต้องหยุด “ปิยบุตร” หยุดอยู่ ไปไม่ไหว ศานุศิษย์ ก้าวเพลิน จนเกินไป จะบอกสอน อย่างไร ก็ไม่ฟัง ย้อนอดีต เริ่มต้น “อนาคตใหม่” ยังคิดคล้าย คือกัน ด้วยความหวัง มาบัดนี้ ไม่เห็นหัว จนตัวพัง โบกมือ ที่ไขว้หลัง…ขออำลา…!!!!????”