xs
xsm
sm
md
lg

‘ธรรมนัส’ ลุยฝนนำทีม ก.เกษตรฯ พบ ปชช. - เกษตรกร จ.นราธิวาส พร้อมนั่งรถโชว์เล่ย์ เยี่ยมสวนเกษตรกร'หมอดินอาสา"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘รมว.ธรรมนัส’ นำทีมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่พบปะ ปชช. - เกษตรกร แก้ปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส พร้อมสั่งเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการปัญหาที่ดินทำกิน แหล่งน้ำ และราคายาง ขู่ ทลายขบวนการลักลอบขนยางเถื่อน ให้เวลา ผอ. การยางหาวิธีจัดการ 10 วัน

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามงาน และพบปะรับฟังปัญหาจากตัวแทนประชาชนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบริหารห้องเย็นบูกิต ในตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีนายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 3 และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับนายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ และ ดร.ซาการียา สะอิ จากพรรคภูมิใจไทย มาให้การต้อนรับ

ภายในงานมีการแสดงโชว์ปันจักสีลัต เพื่อเป็นการต้อนรับคณะทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ก่อนจะเริ่มการนำเสนอปัญหา และอุปสรรคภาคการเกษตรโดยรวมของตำบลบูกิต โดยมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำเสนอต่อรัฐมนตรีฯ โดยกล่าวถึงปัญหาราคายางที่เป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้านอยู่ได้เพราะอาศัยการทำอาชีพเกษตรยางพารา แต่ตอนนี้ราคายางตกต่ำ ถ้าในจังหวัดนราธิวาสทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นได้ ปัญหาต่างๆ จะลดน้อยลง รวมถึงปัญหาเรื่องของความมั่นคง

นอกจากนี้ปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะตำบลบูกิตซึ่งเป็นตำบลที่ใหญ่ของจังหวัดนราธิวาส อาชีพหลักคือเกษตรกร แต่ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนเรื่องน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคอีก 2 หมู่บ้านในตำบลบูกิต อยากให้สร้างฝายกั้นน้ำ เพื่อส่งน้ำในการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อชาวสวนทุเรียน และปัญหาเรื่องอุทยานแห่งชาติ ที่เดิมจะมีเอกสารสิทธิ์
คือ สค.1 (2498) แต่เมื่อปี 2511 กรมป่าไม้ มาทับที่ของชาวบ้านที่เป็นพื้นที่บนเขา และใน พ.ศ. 2523 กรมอุทยานฯ มาทับที่อีกครั้ง โดยมี 10 หมู่บ้านที่มีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดิน

อีกทั้งเรื่องถนน พืชผลการเกษตรส่วนใหญ่ในพื้นที่จะปลูกไว้บนเขา ซึ่งเวลาขนถ่ายผลผลิตลงมาจะทำให้ผลผลิตเสียหายทำให้ราคาตกต่ำ สาเหตุเพราะไม่มีถนนเพื่อขนถ่ายผลผลิต จึงขอเสนอให้มีการสร้างถนนเพื่อขนถ่ายผลผลิตจะทำให้ราคาพืชผลการเกษตรสูงขึ้น ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายผลผลิต

ส่วนเรื่องนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ยังคงคลุมเครืออยู่ คือเรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องระยะการใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร แต่ในพื้นที่อำเภอเจาะไอร้อง ไม่มีร้านจำหน่ายปุ๋ย ต้องเข้าไปซื้อในตัวเมืองนราธิวาสซึ่งไกลเกินรัศมี 4 กิโลเมตร ถ้าตามเงื่อนไขเงิน จะไม่สามารถซื้อปุ๋ยได้จึงขอให้ทาง ร.อ.ธรรมนัส ปลดล็อคเรื่องระยะทางให้สามารถนำเงินนี้ไปซื้อปุ๋ยได้

ร.อ.ธรรมนัส เปิดเผยว่า ในพื้นที่ตำบลบูกิต เป็นพื้นที่ ที่มีผลผลิตทุเรียนต่อปี มากกว่า 1,000 ตัน แต่ห้องเย็นสามารถเก็บได้เพียงแค่ 300 กว่าตัน จึงทำให้ต้องนำผลผลิตที่เหลือไปแช่ที่จังหวัดปัตตานี โดย ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จะสร้างห้องเย็นเพิ่มให้อีก 1 ห้องเย็น ซึ่งจะเริ่มสร้างในช่วงปี 2567 และจะช่วยส่งเสริมอัตราการจ้างงานของคนในพื้นที่ โดยจะเพิ่มทั้งจำนวนแรงงานในการทำงาน และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้น

ส่วนเรื่องพื้นที่ป่าอุทยานฯ สิทธิการทำกิน ตนได้เดินทางไปที่จังหวัดปัตตานี ก็พบว่ามีเทือกเขาที่เกิดปัญหา คือการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี 2562 ทำให้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ดังนั้นนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ดินทำกิน และสิทธิในที่ดินทำกิน โดยเน้นย้ำกระทรวงเกษตรและทรัพยากร ว่าปัญหาที่ดินทับซ้อนจะต้องมีการพิสูจน์ทราบสิทธิ ว่า สค. 1 ปี 2497 - 2498 ของชาวบ้านนั้นไปประกาศทับที่หรือไม่ ซึ่งจังหวัดนราธิวาส ทำการพิสูจน์แล้วแปลงไหนที่พิสูจน์ทราบว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนจะต้องทำการคืนที่ดินให้กับชาวบ้านในลักษณะเอกสารสิทธิ์ หรือโฉนด ส่วนพื้นที่ไหนที่ไม่ใช่ที่ของชาวบ้าน บางส่วนก็จะอนุญาตให้เข้าทำกินได้ตามแนวโครงการพระราชดำริ

รวมทั้ง จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนเรื่องที่ดินของจังหวัดนราธิวาส พร้อมประสานไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมลงพื้นที่ด้วยในครั้งหน้า ส่วนปัญหาเรื่องการทำแหล่งน้ำ ตนเองจะให้กรมชลประทาน ลงพื้นที่ทำรายงานแหล่งในพื้นที่ และรายงานผลภายในสิ้นเดือนนี้

ขณะที่การปราบปรามยางพาราเถื่อนที่ทำให้ราคายางตกต่ำ ซึ่งลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านทางอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยนำเข้ามาแล้วส่งโรงงานผลิตยางรถยนต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย โดยหลังจากนี้กลไกที่สลับซับซ้อนของวงการยางจะต้องถูกชำแหละโดยตนเอง ซึ่งตนให้เวลา 10 วัน สั่งการให้ ผอ.การยางแห่งประเทศไทย ไปหาทางแก้ไขปัญหาการลักลอบขนยางเถื่อนตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เช่นนั้นจะทลายไม่ให้เหลือ จึงอยากฝากผู้ว่าการยางฯ ต้องทำงานร่วมกันอย่างหนัก และเริ่มดำเนินการทันที

สำหรับความกังวลเรื่องนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส จากการประชุมใน ครม. ครั้งที่ผ่านมาถึงประเด็นการใช้เงินดิจิทัลที่จะต้องมีรัศมีแค่ 4 กิโลเมตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการสั่งการให้ปลดล็อคเรื่องระยะทางแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จการพบปะหารือปัญหากับตัวแทนชาวบ้าน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบทุนช่วยเหลือชาวบ้าน ประกอบด้วย มอบสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย, สินเชื่อกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นเงินจำนวน 420,000 บาท, ถนนสายซอยผิวจราจรหินคลุก บ้านประชารัฐรวมใจ 2 เป็นเงินจำนวน 1,895,000 บาท, อาคารอเนกประสงค์ประชารัฐร่วมใจ 2 เป็นเงินจำนวน 2,152,000 บาท, ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายซอยบ้านประชารัฐร่วมใจ 1 และโรงผลิตน้ำบูดูบ้านประชารัฐอารมณ์ใจ 1 เป็นเงินจำนวน 1,167,800 บาท และมอบของใช้ที่จำเป็นจำนวน 200 ชุด

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และคณะ เดินทางพบปะกลุ่มเกษตรกร ณ เทศบาลเมืองตากใบ อำเภอตากใบ และเดินทางตรวจติดตามพนังกั้นน้ำมูโนะ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ณ อำเภอสุไหงโก-ลก และตรวจเยี่ยมคลองชลประทาน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำดำจากป่าพรุโต๊ะแดง ณ ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ ก่อนจะเดินทางไปตรวจติดตามผลการดำเนินงาน “ตากใบโมเดล” ณ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ ซึ่งตลอดเส้นทางตั้งแต่บริเวณพนังกั้นน้ำมูโนะ จนถึงบริเวณหอประชุมโครงการตากใบโมเดลมีฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่ร้อยเอกธรรมนัส ยังลงเยี่ยมเยือนประชาชน โดยเดินฝ่าสายฝนไปพบชาวบ้านที่มารออย่างไม่ย่อท้อเช่นกัน ขณะที่บริเวณหอประชุมบ้านไร่ ตำบลเจ๊ะเห ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการตากใบโมเดล มีประชาชนมาร่วมงานประมาณ 1,000 คน ท่ามกลางฝนตกหนักต่อเนื่อง

ทั้งนี้ร้อยเอกธรรมนัส ยังนำคณะเดินทางลงลงพื้นที่ ไปเยี่ยมให้กำลังใจ นายธานี แก้วโยธา หมอดินอาสา ที่บริเวณหมู่ 4 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ โดยร้อยเอกธรรมนัส ได้นั่งรถโชว์เล่ย์หรือ รถซาเล้ง ที่มีนายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะเป็นคนขับอีกด้วย ขณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและทีมงานก็นั่งรถซาเล้งตามขบวนเช่นกันซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

สำหรับนายธานี หมอดินอาสา ถือเป็นเกษตรกร ที่นำความรู้จากโครงการตากใบโมเดล ไปพัฒนาต่อยอดทำเกษตรผสมผสาน ทำให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรรายอื่นเป็นอย่างดี








กำลังโหลดความคิดเห็น