xs
xsm
sm
md
lg

“ร่มธรรม” วอน รบ.เร่งแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แนะ หาตลาดรองรับ ลดต้นทุนการผลิต ประกันราคาช่วยเหลือเกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (10 ก.ย.) นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยระบุว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่ตนได้รับจากประชาชนในพื้นที่ คือ ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เช่น ราคายางพารา ปาล์ม ข้าว และข้าวโพด ตลอดจนปัญหาราคาพืช-ผักผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ตกต่ำ เช่น กุ้ง และอาหารทะเล อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิต เช่น ราคาปุ๋ย น้ำมันเชื้อเพลิง ยาปราบศัตรู ที่สูงขึ้นทุกปี ประกอบปัญหาเรื้อรังเรื่องการขาดแคลนที่ดินทำกิน การครอบครองที่ดินอย่างไม่มีกรรมสิทธิ์ หรือการเช่าที่ทำการเกษตร ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากปัญหาด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ด้านเศรษฐกิจ ด้านความต้องการของตลาดโลกและกลไกลตลาด ที่มีเรื่องของปัจจัยจากต่างประเทศซึ่งมีเทคโนโลยีด้านการเกษตรในการเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตที่เหนือกว่าประเทศไทยมากมาเป็นคู่แข่งขันทางการค้า นอกจากนี้ เกษตรกรไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำ และคุณภาพของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะฝนน้อย ฝนทิ้งช่วง น้ำแล้ง และอากาศร้อนขึ้น
 
นายร่มธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก หรือเรียกว่าเป็นครัวโลก ซึ่งประชากรของไทยกว่าร้อยละ 40 อยู่ในภาคการเกษตร แต่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่ถาโถมและท้าทายเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อรายได้ และสร้างปัญหาอื่นๆตามมา เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพติด และปัญหาคุณภาพชีวิต จึงต้องพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐในด้านต่างๆ ดังนั้นจึงขอให้ข้อแนะนำและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากความยากจน ดังนี้
 
1. สำหรับปัญหาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ขอให้รัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านรายได้ และสวัสดิการแก่เกษตรกร เช่น การประกันรายได้ให้กับเกษตรกรในยามที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ หรือน้อยกว่าราคาขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด ทั้ง ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด เพื่อให้เกษตรกรสามารถยังชีพอยู่ได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น รัฐบาลที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จ ในการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม
 
2. ด้านปัญหาราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สำหรับราคาปุ๋ยเคมีนั้น กระทรวงพาณิชย์ควรมีการควบคุมและปรับราคาปุ๋ยให้ลดลงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในระยะเร่งด่วน และในระยะยาวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะสนับสนุนการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม พัฒนาอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยโปแทส ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต ร่วมกับการส่งเสริมกลุ่มผลิตปุ๋ย เพื่อการผลิตปุ๋ยใช้เอง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพให้เพียงพอ ไปจนถึงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
3. ด้านปัญหาผลผลิตล้นตลาด ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งจัดหาตลาดรองรับไว้ก่อนล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับการกระจายผลผลิตไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ เช่น มังคุด ลองกอง จากภาคใต้ ไปสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังควรสนับสนุนการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรในประเทศ สนับสนุนการแปรรูปผลผลิตมากยิ่งขึ้น
 
4. ด้านหนี้สินของเกษตรกร ขอให้รัฐบาลได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร เพื่อลดภาระเกษตรกรเฉพาะหน้าในช่วงที่เศรษฐกิจและราคาพืชผลสินค้าทางการเกษตรตกต่ำเช่นตอนนี้ พร้อมกับต้องเร่งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรควบคู่ไป เพื่อหลุดพ้นจากกับดักหนี้
 
5. ด้านการพัฒนาเกษตรกร ขอให้รัฐบาลพัฒนาทักษะความรู้ให้กับเกษตรกร การพัฒนาการผลิตที่มีคุณภาพ การแปรรูป การเพิ่มมูลค่าสินค้า การบริหารการประกอบการและการเงิน และการวิเคราะห์ต้นทุน ไปจนถึงพัฒนาให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดสินค้า ทั้งระดับภายในและภายนอกประเทศ อีกทั้งยังควรส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการทำการเกษตรผสมผสานที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มรายได้เสริม และลดความเสี่ยงต่อการพึ่งพาผลผลิตเพียงชนิดเดียว
 
6. ด้านปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านเกษตรกรรม เช่น ระบบการขนส่ง ออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน และเร่งสร้างระบบน้ำและชลประทานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกษตรกรประสบอยู่ทั่วประเทศ
 
7. ขอให้รัฐบาลได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร พัฒนาการบริหารจัดการของกลุ่มและเครือข่ายเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งการรวมกลุ่มของเกษตรกร จะเป็นพลังต่อรอง เป็นศูนย์รวมของการช่วยเหลือ ถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมกลุ่มให้มีการบริหารจัดการทั้งด้านเงินลงทุน วัตถุดิบและเครื่องจักร การลดต้นทุนการผลิต การจัดจำหน่าย การจัดหาตลอดรองรับ และช่วยให้มีการผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ ได้อย่างยั่งยืน เช่น การสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มประมงท้องถิ่น และการสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น
 
8. ขอให้รัฐบาลได้ดำเนินโครงการการประกันภัยพืชผล เป็นโครงการที่รัฐจะต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของเกษตรกรไทย โดยเป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงของเกษตรกรไปยังผู้รับประกันภัย ซึ่งในระยะยาว ยังสามารถช่วยลดความกดดันต่อภาระงบประมาณของรัฐได้อีกด้วย
 
“ผมเชื่อว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดใหม่จะแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าหากเราเปรียบเทียบว่าประเทศไทยเป็นครัวของโลก ขณะนี้ ครัวแห่งนี้ก็ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ และขาดแคลนเต็มที และหากเราเปรียบเทียบเกษตรกรไทยว่าเป็น กระดูกสันหลังของชาติ กระดูกสันหลังนี้ก็กำลังผุกร่อน รอการรักษาและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ผมหวังว่า ความเดือดร้อนเหล่านี้จะได้รับการพิจารณาแก้ไขจากรัฐบาลเพื่อการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร เพื่อชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศต่อไป” นายร่มธรรม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น