xs
xsm
sm
md
lg

สสส.สานพลัง ม.นครพนม MOU การบริการวิชาการแก่สังคม “อยู่ดีมีสุข”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส.สานพลัง ม.นครพนม MOU การบริการวิชาการแก่สังคม “อยู่ดีมีสุข” นำร่องเดินหน้าสร้างสุขภาวะ 6 ประเด็น เด็ก-ผู้สูงอายุ-แอลกอฮอล์-อาหารปลอดภัย-สุขภาพจิต-ขยะและสิ่งแวดล้อม สู่สุขภาวะชาวอีสานอย่างยั่งยืน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบริการวิชาการแก่สังคมกับ มหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่และเกิดเครือข่ายสังคมสุขภาวะภาคอีสาน โดยนายสมยศ สีแสนซุยรักษาราชการแทนอธิการบดี ม.นครพนม กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่และเกิดเครือข่ายสังคมสุขภาวะ ที่สามารถบูรณาการ กิจกรรมร่วมกับการเรียนการสอน การวิจัยเชิงพื้นที่ การบริการวิชาการแก่สังคม ตลอดจนได้รับองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยมีขอบเขตความร่วมมือ 1. พัฒนาเชิงพื้นที่ สนับสนุนการบริการวิชาการแก่สังคม การวิจัย และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมถึงเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนา และสร้างสังคมสุขภาวะภาคอีสาน 2. สร้าง และเชื่อมประสานภาคีเครือข่าย สร้างพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลักดันการขับเคลื่อนในเชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย 3. ด้านการศึกษา สรุปบทเรียน พัฒนาองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ยกระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่ 4. ผู้สนับสนุนการให้บริการวิชาการ และทรัพยากรอื่น ๆ ให้การดำเนินงานเป็นไปตามขอบเขตข้อตกลงความร่วมมือ

ด้านดร.ณัฐพันธ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนงานผ่านยุทธศาสตร์ไตรพลัง หนึ่งในนั้นคือพลังวิชาการ ซึ่งสถานศึกษาเป็นกำลังที่สำคัญ ม.นครพนม มีการเรียนการสอนที่ครอบคลุม ทั้งอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา มีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ การอาชีพ สอดคล้องกับการทำงานของ สสส. ที่ทำงานผลักดันด้านนโยบาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่สุขภาวะที่ดีภายใต้คำว่า “อยู่ดีมีสุข” พัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายภาคอีสาน รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ โดยมีพันธกิจร่วมกัน คือ พัฒนาสุขภาวะเชิงพื้นที่ จัดเวทีพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรณรงค์ประเด็นสุขภาวะ ได้แก่ 1. เด็ก และเยาวชน 2.ผู้สูงอายุ และสังคมผู้สูงวัย 3. แอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด 4. อาหารปลอดภัย 5. สุขภาพจิต 6. ขยะ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประเด็นสุขภาวะอื่น ๆ ร่วมบูรณาการการทำงานระหว่างประเด็น พื้นที่ และกลุ่มเป้าหมาย นำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะภาคอีสานอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น