xs
xsm
sm
md
lg

หายนะประชาธิปัตย์ ต่ำสิบถึงสูญพันธุ์ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชวน หลีกภัย - บัญญัติ บรรทัดฐาน - จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
เมืองไทย 360 องศา

หลังจากการโหวตในที่ประชุมรัฐสภา จนได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ นายเศรษฐา ทวีสิน ไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม แต่ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ได้เห็นแนวโน้มหายนะอยู่ตรงหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาพร้อมๆ กัน ที่ต้องบอกว่า เป็น “หายนะ” นั้น เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ล้วนเห็นตรงกันกับการที่มี ส.ส.“งูเห่า” โหวตสวนมติพรรค ที่มีมติให้งดออกเสียง แต่กลายเป็นว่า พวกเขาจำนวนถึง 16 เสียง กลับขานชื่อสนับสนุน นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีหน้าตาเฉย

แน่นอนว่า การโหวตย่อมเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แต่การลงมติแบบนี้ และเป็นไปในทิศทางอย่างที่เห็น มันย่อมทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมา ทั้งในพรรคและนอกพรรค และที่สำคัญ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย

มีรายงานว่า การลงคะแนนเห็นชอบ นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ส.ส.ของพรรคได้มีมติให้สมาชิกงดออกเสียง หรือไม่เห็นชอบ แต่ปรากฏว่า มี ส.ส.พรรค ลงคะแนนเสียงแตก โดยมีเพียง 6 คน ที่ลงคะแนนงดออกเสียง ตามมติพรรค ประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายสรรเพชญ์ บุญญามณี น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ นายสมยศ พลายด้วง นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส่วน ส.ส.ที่โหวตไม่เห็นชอบมี 2 คน คือ นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

**ส่วน ส.ส.อีก 16 คน ที่พร้อมใจกันโหวตเห็นชอบ ประกอบด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง นางสาวสุภาพร กำเนิดผล นายกาญจน์ ตั้งปอง นายชัยชนะ เดชเดโช พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ นางอวยพรศรี เชาวลิต นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ นางสุพัชรี ธรรมเพชร นายยูนัยดี วาบา นายชาตรี หล้าพรหม นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นายสมบัติ ยะสินธุ์ นายวุฒิพงษ์ นามบุตร นายพิทักษ์เดช เดชเดโช และ ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ ขณะที่ นายราชิต สุขพุ่ม ได้แจ้งลาประชุม เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ

มีรายงานว่า ก่อนที่จะมีการโหวต แกนนำกลุ่มคือ นายเดชอิศม์ และ นายชัยชนะ ได้หารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทย คือ นายภูมิธรรม ว่า เสียงยังก้ำกึ่ง พวกตนพร้อมจะโหวตเติมให้ แต่ต้องได้ร่วมรัฐบาล ดังนั้น ทางกลุ่มที่โหวตสวนมติพรรค จึงไม่ได้แสดงตนในที่ประชุม แต่กลับนั่งรวมตัวกันข้างนอก จนเมื่อทราบว่า ผลการโหวตเสียงเกิน 375 เสียง ที่โหวตให้ นายเศรษฐา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เสียงสนับสนุนทั้งสองสภา 482 เสียง ก็ได้มีการพูดคุยกันกับแกนนำเพื่อไทย ว่า จะยังโหวตเห็นชอบ โดยขอเป็นอะไหล่ ในกรณีที่พรรคภูมิใจไทย ต้องการเจรจาต่อรองขอกระทรวงเกรดเอ จากพรรคเพื่อไทย หากพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้และถอนตัว 71 เสียงออกไป ก็จะเหลือ 411 เสียง หากบวกกับทางกลุ่มของตน ซึ่งมี 16 เสียง ก็จะได้ 427 เสียง เสริมความแข็งแกร่งของรัฐบาลได้ โดยไม่ต้องพึ่งพรรคภูมิใจไทย โดยทางกลุ่มของตน ก็จะพร้อมเสียบทันที จนเป็นที่มาของการโหวตสวนมติพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว

นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรค กล่าวภายหลังการประชุมรัฐสภา ว่า ไม่น่าเชื่อว่า ส.ส.ของพรรค จะโหวตออกมาแบบนี้ ในส่วนของตนได้กล่าวชี้แจงในที่ประชุมพรรคตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. แล้วว่า ตนต้องขออนุญาตโหวตไม่เห็นชอบ เพราะเราต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยมาตลอด 3-4 สมัย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ที่เขากลั่นแกล้งตัดงบประมาณการพัฒนาพื้นที่จนต้องทำหนังสือหลายฉบับถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้จัดงบมาทดแทนเพื่อชดเชยสิ่งที่เราขาดไป

“การโหวตวันนี้ มิใช่การขัดต่อมติพรรคเเต่อย่างใด เเต่เป็นการย้ำจุดยืน ไม่ทรยศคนใต้ เนื่องด้วยพฤติการณ์ในอดีตของรัฐบาลยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มีการเลือกปฏิบัติต่อภาคใต้ ละเมิดหลักนิติธรรม รวมถึงการรณรงค์หาเสียงของพรรคเรา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ก็หยิบยกประเด็นนี้มาพูดจนคนใต้ไม่เลือกพรรคการเมืองของคนกลุ่มนี้ตลอดมา แต่ที่น่าตลกเพราะคนในกลุ่มนี้บางคน ขู่ผมไว้ว่าตอนที่เขาจะไปร่วมว่า ต้องทำตามมติพรรค หากใครไม่ทำตามมติพรรค ต้องเอาออก วันนี้ผมไม่ได้ทำผิดมติพรรคแต่อย่างใด เพราะขออนุญาตที่ประชุมพรรคแล้ว ว่าจะขอไม่โหวตให้ และพรรคก็ได้มีมติงดออกเสียง แต่วันนี้ สิ่งนี้กลับย้อนไปที่ตัวเขาเองด้วยการทำขัดมติพรรคเสียเอง” นายชวน กล่าว

ขณะที่ นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช หนึ่งใน 16 ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรคสนับสนุน นายเศรษฐา อธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องกลัวตกขบวน หรือร่วมขบวน แต่การประชุมพรรค เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา จากการหารือมี 3 ความเห็น คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และ งดออกเสียง สรุปว่าให้งดออกเสียง หลังจากนั้น ในประชุมรัฐสภา วันที่ 22 สิงหาคม ตนกับเพื่อน ส.ส. ได้นั่งฟังการอภิปราย รับฟังข้อมูลจากสมาชิกรัฐสภา เรื่องข้อสงสัยในตัวนายเศรษฐา คิดว่าไม่มีน้ำหนักในการเข้าสู่การดำรงตำแหน่งนายกฯ และจากการลงพื้นที่พบปะประชาชน มีการสอบถามความเห็น เขาอยากหาทางออกให้ประเทศ โดยบอกว่าถ้าเป็นนายเศรษฐา ซึ่งไม่มีแนวคิดล้มล้าง หรือแก้ไข มาตรา 112 ก็ต้องยกให้เขา ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่แก้ไข ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขเพื่อประโยชน์ประชาชน และเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง

“การเลือกตั้งล่วงเลยมาถึง 90 วันแล้ว แต่เรายังไม่มีนายกฯ ประเทศจึงต้องหาทางออกให้ได้ วันนี้งบ 67 ยังไม่มีการประชุมเพื่อพิจารณา ขณะที่งบ 68 กำลังจะมาถึง รัฐบาลรักษาการก็มีกรอบอำนาจหน้าที่ที่กำหนด ทำให้ส.ส.พรรค 16 คน ที่โหวต ก็หารือกัน หลายคนมีแนวคิดแบบนี้ จึงตัดสินใจชั่วโมงสุดท้ายว่าจะ โหวตให้ นายเศรษฐา เป็นนายกฯ ที่สำคัญในการโหวตครั้งนี้ ไม่ได้ยืนยันว่าเราจะขอร่วมรัฐบาล เราพร้อมทำงานทั้งสองหน้าที่ ทั้งการเป็นรัฐบาล และฝ่ายค้าน ไม่ใช่โหวตแล้วจะได้ขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ต้องขอกราบอภัยแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ ที่คาดหวังว่าเราจะไม่โหวตให้ หรืองดออกเสียง

เมื่อถามว่า มีการดีลกับพรรคเพื่อไทยก่อนโหวตหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า ไม่มี ไม่มีการโทร.คุยกับใคร เช็กมือถือตนได้เลย

ไม่ว่าแต่ละฝ่าย แต่ละคน จะมีเหตุผลในการโหวตครั้งนี้อย่างไร ก็ว่ากันไป และเชื่อว่า ประชาชน และผู้ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมมองออก และสิ่งที่มองเห็น ก็คือ เกิดความแตกแยกภายในพรรคอย่างหนัก มีการแบ่งก๊วนแบ่งกลุ่มแยกย่อยหลากหลายกลุ่ม ในลักษณะที่เรียกว่า “คุมกันไม่ติด” แล้วภาพที่ปรากฏ ยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ระดับผู้อาวุโสของพรรคอย่าง นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ที่มองว่าเป็นผู้ที่สมาชิกพรรคให้ความเคารพ ก็เอาไม่อยู่
** จะว่าไปแล้ว สภาพความแตกแยกดังกล่าวมีความสะสมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่พ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อปี 62 เรื่อยมา ซึ่งครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่สูญเสียที่นั่งในภาคใต้ ส่วนในกรุงเทพฯ ก็สูญพันธุ์ ได้ ส.ส.รวมกัน 52 ที่นั่ง โดยภาคใต้ ที่ถือว่าเป็นฐานที่มั่นสำคัญได้มาแค่ 22 ที่นั่ง แต่ผลการเลือกตั้งล่าสุด ยังถดถอยลงไปอีก นั่นคือ มี ส.ส.รวมกันแค่ 25 ที่นั่ง ขณะที่ภาคใต้ ลดลงเหลือแค่ 17 ที่นั่ง เท่านั้น

อย่างไรก็ดี สภาพความแตกแยกดังกล่าวยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ตรงกันข้ามกลับขยายวงในลักษณะ “ควบคุมกันได้ยาก” แล้ว อย่างน้อยที่เห็นชัด ก็คือ ยังไม่อาจเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ และได้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้เลย เนื่องจากไม่อาจประชุมได้ และจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่อาจกำหนดวันประชุมครั้งใหม่ได้ เรียกว่าตอนนี้ลักษณะเหมือนกับทุกอย่างเป็น “สุญญากาศ” ควบคุมกันไม่ได้ กำหนดทิศทางไม่ได้

สภาพที่ปรากฏในเวลานี้หลายคนมองเห็นตรงกันว่ายัง “มองไม่เห็นอนาคต” และตราบใดที่ยังไม่มีหัวหน้าพรรคคนใหม่ และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกัน ปัญหาที่สำคัญก็คือ เวลานี้ยังมองไม่เห็นแววหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะเป็นใคร หรือแม้ว่าตามโผรายชื่อที่ออกมาก่อนหน้านี้ มันก็ยังไม่ตอบโจทย์สังคมภายนอก เพราะเมื่อเห็นหน้าตาแล้ว ก็ต้องบอกตามตรงว่างั้นๆ ไม่มีความโดดเด่น นั่นคือ “ขายไม่ได้”

เอาเป็นว่า สภาพที่เห็นในพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้เหมือนกับมองไม่เห็นอนาคต ควบคุมทิศทางกันไม่ได้ และเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ มันย่อมส่งผลกระทบกับความนิยมของพรรคในบางพื้นที่ เช่น ภาคใต้ ที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคมาตลอด แต่ที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มลดลงมาตลอด ดังนั้น หากยังไม่อาจเรียกความนิยมคืนมา นอกเหนือจากกลายเป็นพรรคต่ำสิบแล้ว อาจเลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ เสี่ยง “สูญพันธุ์” ไปเลย ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเห็นสำหรับพรรคเก่าแก่แห่งนี้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น