xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้อง รฟม.ตัดต้นไม้หน้า ม.เกษตรฯ สร้างสายสีเขียว ศาล ปค.ชี้ ขออนุญาตตามหลักวิชาการถูกต้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาล ปค.ยกฟ้องปม ส.โลกร้อน ร้อง รฟม.ตัดโค่นต้นไม้หน้า ม.เกษตรฯ สร้างรถไฟสายสีเขียวไม่ชอบ ชี้ มีการขออนุญาต ตัดย้ายตามหลักวิชาการถูกต้องแล้ว

วันนี้ (16 ส.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ และพวกรวม 9 คน ยื่นฟ้องขอให้ศาลปกครองสั่งให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ระงับการตัดฟัน โค่นทำลาย หรือขุดล้อมไม้ยืนต้น ตลอดแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

โดยศาลฯให้เหตุผลว่า รฟม.และบริษัท อิตาเลี่ยนไทยฯ ได้ขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ ในการรื้อย้ายต้นไม้ที่กีดขวางการก่อสร้างออก พร้อมชำระค่าเสียหายตามที่หน่วยงานดังกล่าวแจ้งแล้วประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏตามคำชี้แจงของกรุงเทพมหานครลงวันที่ 10 เม.ย. 61 และวันที่ 18 พ.ค. 61 ว่า การรื้อหรือย้ายต้นไม้ที่อยู่ในแนวการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้แก่ พื้นที่เขตจตุจักร เขตสายไหม เขตบางเขน เขตดอนเมือง และพื้นที่ของสำนักสิ่งแวดล้อมมีการขออนุญาตและได้รับอนุญาตให้ดำเนินการพร้อมชำระค่าเสียหายโดยดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ จึงถือได้ว่า รฟม.และ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตเกี่ยวกับการรื้อย้ายต้นไม้ และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปลูกและคิดค่าเสียหายต้นไม้ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 1024/2526 ลงวันที่ 24 มี.ค. 26

ส่วนกรณีการตัดต้นไม้ 14 ต้นบริเวณทางเท้าด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ริม ถ.พหลโยธินนั้น ในข้อเท็จจริงปรากฏตามคำชี้แจงของกรุงเทพมหานครลงวันที่ 10 เม.ย. 61 ว่า การตัดต้นไม้ 14 ต้น ในบริเวณดังกล่าว ต้นไม้ส่วนใหญ่ถูกตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มอย่างหนัก จนเหลือเฉพาะลำต้นหรือกิ่งใหญ่ 2-3 กิ่งเท่านั้น ทำให้รูปทรงของต้นไม้เสียหายทำลายลักษณะรูปทรงเดิมตามธรรมชาติของต้นไม้ ต้องใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะแตกพุ่มใบพอให้ร่มเงาได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำให้การของ รฟม.ว่า บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝั่ง ถ.พหลโยธิน มีแนวสายไฟฟ้าสายสื่อสารอยู่ในระดับต่ำมาก อยู่ติดกับทรงพุ่มของต้นนนทรีทั้ง 14 ต้น การขุดล้อมย้ายต้นไม้ดังกล่าวออกจากพื้นที่ต้องดำเนินการตัดแต่งทรงพุ่มตัดริดกิ่งให้ต่ำกว่าระดับของสายไฟและสายสื่อสาร เพื่อไม่ให้กิ่งไม้ไปโดนระบบสาธารณูปโภคดังกล่าวเสียหาย การตัดริดกิ่งดังกล่าวจึงเป็นการกระทำตามความเหมาะสมกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่แล้ว ถือได้ว่าการรื้อย้ายต้นไม้ของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ดำเนินการถูกต้องตามหลักวิชาการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการรื้อย้ายต้นไม้ แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีต้นไม้บางส่วนตาย แต่สาเหตุการตายยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด จึงไม่อาจพิจารณาได้ว่าการที่ต้นไม้ตามคดีพิพาทตายมีสาเหตุมาจากการรื้อย้ายเท่านั้น นอกจากนี้ รายงาน EIA กำหนดให้ต้องมีการปลูกต้นไม้ทดแทนใต้แนวสายทางโครงการและทางเดินเท้า ภายหลังการก่อสร้างโครงสร้างของสถานีรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ และปลูกต้นไม้ชดเชยบริเวณเกาะกลางถนน ทางเดินเท้า พื้นที่ใกล้เคียงโดยพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูกควรเป็นไม้ประเภทไม้ใบ ไม้ดอกทรงพุ่ม ซึ่ง รฟม.กำหนดไว้ในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 ให้บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ปลูกต้นไม้ชดเชยตามแบบที่ได้ระบุไว้ในแบบก่อสร้างประกอบด้วยไม้ยืนต้นจำนวน 801 ต้น ไม้พุ่ม 36,100 ต้น พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าการดำเนินการเกี่ยวกับต้นไม้ในพื้นที่ก่อสร้างตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของ รฟม.และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น รฟม.จึงไม่มีหน้าที่ต้องดำเนินการปลูกต้นไม้เพื่อทดแทนตามคำขอ


กำลังโหลดความคิดเห็น