“เรืองไกร” ร้อง กมธ.การเมือง วุฒิสภา เร่งสอบ “เศรษฐา” ปมเอี่ยวหนีภาษีซื้อที่ดิน ย่านสารสิน ก่อนโหวต เก้าอี้ นายกฯ ด้าน “กมธ.” เด้งรับ ยันมีอำนาจตาม รธน.272
วันนี้ (7 ส.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา โดย นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ฐานะรองประธาน กมธ.คนที่สาม, ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว.และเลขานุการ กมธ., นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. และ กมธ. ร่วมรับยื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อกล่าวอ้างที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอชื่อให้รัฐสภา ลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 กรณีเมื่อปี 2562 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่นายเศรษฐา ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด และกรรมการแสนสิริ ได้ซื้อที่ดินย่านถนนสารสิน โดยมีพฤติกรรมเข้าข่ายเลี่ยงการเสียภาษีหรือไม่ และเข้าข่ายมีพฤติกรรมส่อว่าเป็นบุคคลที่อาจขาดคุณสมบัตินายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่
ทั้งนี้ นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนขอให้ กมธ.ตรวจสอบเรื่องที่ถูกอ้างถึง นายเศรษฐา ก่อนที่จะมีการเสนอชื่อและโหวตให้เป็นนายกฯ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้น 10 วันหลังจากนี้ โดยขอให้เรียกข้อมูลจากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักเคลื่อนไหวการเมือง, บริษัท แสนสิริ ในส่วนของแคชเชียร์เช็ค ซื้อขายที่ดิน สัญญาซื้อขาย รวมถึงรายละเอียดของการชำระภาษี เพื่อพิสูจน์ว่าหนีภาษีหรือไม่, กรมสรรพากร รวมถึงผู้ขายทุกรายมาให้ข้อมูล
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบของตน พบว่า ผู้ขายที่ดินทั้ง 12 รายนั้น ระบุว่า ไม่ทราบเขตที่ดินที่ชัดเจน แม้ผู้ขาย 12 รายจะเสียภาษีตามใบเสร็จ แต่ไม่ใช่ภาษีอากร หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม และในเรื่องดังกล่าวมีกฎหมายว่าด้วยการเสียภาษีไว้เฉพาะ เพราะบุคคล 12 รายได้รับโอนที่ดินเมื่อปี 2561 ก่อนจะขายในปี 2562 ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ต้องเสียภาษีเฉพาะธุรกิจ ในกรณีที่ถือครองที่ดินไม่เกิน 5 ปีด้วย ขณะที่บริษัท แสนสิริ ถือว่าเป็นบริษัทเอกชนที่ร่วมลงนามในข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นพบว่าที่ดินที่บริษัทซื้อขายนั้นอยู่ระหว่างการพัฒนา มูลค่า 1,600 ล้านบาท แต่ในปี 2561 พบมูลค่าที่สูงถึง 1.3 หมื่นล้านบาท และปี 2562 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ในการซื้อขายที่ดินของบริษัท แสนสิริ ในปีดังกล่าวต้องตรวจสอบในส่วนของราคาที่ดิน และมีการเสียภาษีร่วมด้วยหรือไม่
“ผมเชื่อว่า กมธ.จะมีผู้ที่เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเรื่องที่ถูกกล่าวอ้าง อย่างไรก็ดี ผมไม่ขอชี้นำ ส.ว.หรือบุคคลใดว่า ข้อกล่าวอ้างที่เกิดกับนายเศรษฐานั้นจะทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(4) หรือไม่ แต่หากนายเศรษฐา ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ผมมีหน้าที่ที่จะตรวจสอบในประเด็นคุณสมบัติตามรัฐธรรมมนูญมาตรา 160(4) ต่อว่าเคยมีความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่” นายเรืองไกร กล่าว
ขณะที่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า กมธ.มีอำนาจรับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่มีหน้าที่เห็นชอบบุคคลที่เสนอให้เป็นนายกฯ ซึ่งบุคคลนั้นต้องถูกตรวจสสอบในด้านของจริยธรรม พฤติกรรม การปฏิบัติ และคุณสมบัติตามรัฐธรรมนุญด้วย อย่างไรก็ดี การตรวจสอบของ ส.ว.นั้นจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ ที่เหลือเวลาก่อนจะโหวตนายกฯ อีก 10 วันนั้นเชื่อว่า เงื่อนเวลาดังกล่าวจะเร่งรัดให้ กมธ.พิจารณาศึกษา รวมถึงฟังผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด ทั้งนี้ ยอมรับว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของเอกชั้นนั้น ไม่มีกฎหมายใดบังคับให้มาชี้แจง แต่ต้องขอความร่วมมือเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ที่ถูกกล่าวอ้าง ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัท แสนสิริ เคยมีคำชี้แจงว่านายเศรษฐาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาและซื้อที่ดินนั้น ตนมองว่าเป็นประเด็นที่รับฟังได้ และนอกจากนั้นต้องรับฟังความรอบด้านให้ครบถ้วนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.การพัฒนาการเมือง ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เป็นประธาน กมธ. นัดประชุมวันที่ 8 สิงหาคม เวลา 09.30 น. โดยมีวาระพิจารณาสำคัญ คือ เรื่องการได้มาซึ่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ โดยได้เชิญ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อํานวยการสํานักนวัตกรรม เพื่อประชาธิปไตยเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ต้องจับตาว่า กมธ.จะรับคำร้องของนายเรืองไกร เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในวันดังกล่าวหรือไม่.