xs
xsm
sm
md
lg

“ร่มธรรม” เชื่อ พ.ร.ก.อาชญากรรมไซเบอร์ ช่วยแก้ปัญหาถูกหลอกโอนเงิน พร้อมแนะวิธีเร่งรัดการคืนเงินผู้เสียหาย เพิ่มการทำงานเชิงรุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (5 ส.ค.) นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์อาชญากรรมไซเบอร์และประสิทธิภาพการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยระบุว่า การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นปัญหาที่เร่งด่วนและสำคัญระดับชาติ เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการถูกหลอกลวง และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ซึ่งถือเป็นปัญหาทั้งด้านความมั่นคง และเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยปัจจุบันสถิติอาชญากรรมไซเบอร์ที่ผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 - 31 พฤษภาคม 2566 มีทั้งสิ้น 296,243 คดี หรือประมาณ 525 คดีต่อวัน มูลค่าความเสียหายสูงถึง 40,000 ล้านบาท และมีผู้เสียหายถูกหลอกลวงให้สูญเสียทรัพย์สินมูลค่าสูงสุดถึง 100 ล้านบาทต่อราย ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ขั้นวิกฤตที่ต้องดำเนินการยับยั้ง แก้ไข และเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน
นายร่มธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพที่ปรากฏในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การหลอกขายสินค้าออนไลน์ การหลอกให้ทำงานเสริมผ่านช่องทางออนไลน์ การหลอกให้กู้เงิน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว การหลอกให้ลงทุนด้วยการสร้างข้อมูลปลอมชักชวนสร้างรายได้ การหลอกให้รักแล้วลงทุน โอนเงิน หรือยืมเงิน การปลอมหรือแฮกบัญชีโซเชียลมีเดียแล้วหลอกยืมเงินคนที่รู้จัก การพนันออนไลน์ การหลอกใต้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกลเพื่อขโมยข้อมูล เป็นต้น และเมื่อผู้กระทำผิดได้รับเงินจากผู้เสียหายแล้ว จะโอนเงินของผู้เสียหายต่อไปยังบัญชีอื่นๆ หรือที่เรียกว่า บัญชีม้าของผู้ร่วมขบวนการอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามหลักการของ พรก.ฉบับนี้จะมีส่วนช่วยคุ้มครองประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากภัยทางการเงิน โดยช่วยลดขั้นตอนให้ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารให้ระงับบัญชีต้องสงสัยได้โดยตรงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ นายร่มธรรม ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก.และประสิทธิภาพของการนำกฎหมายไปปฏิบัติ โดยระบุว่า ตนมีความเห็นชอบที่จะมี พ.ร.ก.หรือกฎหมายด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ก็มีประเด็นและข้อสังเกตบางประการ ดังนี้
1. เหตุใดจึงต้องออกกฎหมายในรูปของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เนื่องจากตนเห็นว่า การออกกฎหมายในรูปของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จะมีความละเอียดชัดเจน และรอบคอบมากกว่า เพราะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาที่มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ โดย ส.ส. และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ จึงน่าจะมีความเหมาะที่สุด
2. ตั้งแต่การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 สามารถป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ได้มากน้อยเพียงใด จำนวนผู้ได้รับผลกระทบลดลงหรือไม่ สามารถอาญัติบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้มากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันยังคงมีมิจฉาชีพปลอมแปลงเพจตำรวจไซเบอร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหลอกผู้เสียหายโดยอ้างว่าจะสามารถติดตามหรือกู้คืนทรัพย์สินที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้
3. ตามความในมาตรา 13 ในวาระแรก ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนอยากทราบว่าขณะนี้ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นนี้ได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง และมีแนวทางหรือข้อเสนอแนะในเบื้องต้นเป็นอย่างไร
4. มีวิธีการและกระบวนการคืนเงินให้กับประชาชนผู้ที่ถูกหลอกลวงทางไซเบอร์อย่างรวดเร็วได้อย่างไร เพราะปัจจุบันกระบวนการยึดทรัพย์ และติดตามทรัพย์ยังมีความล่าช้า ต่างจากการดำเนินการในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ที่มีกองบัญชาการที่คอยติดตามเรื่องนี้โดยเฉพาะ และสามารถอายัดเงินคืนได้ทันที
5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการทำงานเชิงรุก โดยการติดตามไปถึงต้นตอของปัญหา และมีการตรวจค้นจับกุมหรือไม่ สามารถจับกุมมิจฉาชีพได้มากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากไม่มีการคืนเงินและจับต้นตอของปัญหาไม่ได้ เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่มีทางลดลง และในความเป็นจริงผู้กระทำความผิดมีหลายบัญชีม้า ที่โอนเงินไปเป็นทอดๆ แปลงค่าไปเป็นสกุลเงินดิจิทัล แล้วโอนออกไปต่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการติดตามเงินคืนอย่างไร
6. ตามความในมาตรา 7 ของ พ.ร.ก.นี้ อาจถูกนำไปใช้เพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่นได้หรือไม่ เช่น อาจมีการแจ้งเหตุปลอมให้อาญัติบัญชี เป็นต้น ดังนั้น ควรมีการระบุข้อความให้รัดกุมยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 29 วรรคสอง ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้าได้กระทำการแจ้งโดยสุจริตไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แม้ภายหลังปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดตามที่แจ้ง ซึ่งการระบุข้อความเช่นนี้ จะทำให้ พรก.ฉบับนี้รัดกุมและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์เพื่อป้องกันต่อผู้แจ้งที่มีเจตนาสุจริต อีกทั้งคงวรกำหนดความผิดสำหรับการแจ้งให้อาญัติบัญชีจากผู้ที่มีเจตนาแจ้งโดยทุจริตเพื่อกลั่นแกล้ง เพิ่มเติมด้วย
“เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้แล้วควรบังคับใช้ให้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ปราบปรามจับกุมและลงโทษผู้กระทำผิดได้จริงและรวดเร็ว ต้องเพิ่มบทลงโทษที่แรงกว่ากฎหมายฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีแล้วต้องไม่มีใครกล้ากระทำผิดอีก แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏคือ ยังมีคนถูกหลอกทุกวัน ณ เวลานี้ขณะที่ผมกำลังอภิปรายอยู่นี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็กำลังทำงานอยู่เช่นกัน จนกลายเป็นเรื่องปกติในประเทศนี้ ซึ่งไม่สามารถปล่อยให้เกิดต่อไปได้ อีกทั้งยังควรป้องกันและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับภัยทางไซเบอร์ สาระสำคัญที่สุด ประชาชนต้องไม่โดนหลอกอีก และประชาชนที่โดนหลอกต้องได้เงินคืน ต้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไว้ให้ได้” นายร่มธรรม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น