xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.นครศรีฯ สั่งกรมอุทยานฯ จับช้างป่าพลายเจ้างา ส่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงภายใน 15 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครองนครศรีธรรมราช สั่งกรมอุทยานฯ จับช้างป่าพลายเจ้างา ส่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ให้เสร็จภายใน 15 วัน หลังเดินหลุดจากอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ทำลายพื้นที่การเกษตรชาวบ้านเสียหาย

วันนี้ (22 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (21 ก.ค.) ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปฏิบัติหน้าที่ในการจับและเคลื่อนย้ายนำช้างป่าพลายเจ้างาไปไว้ในที่เหมาะสม ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และให้รายงานต่อศาลทุก 5 วัน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการเสนอต่อศาลก่อน ภายใน 5 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าศาลจะมี คำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

คดีนี้ นายศักดิ์สิทธิ์ โอยสวัสดิ์ ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หลังเห็นว่า มาตรการในการแก้ไขป้องกันไม่ให้ช้างป่าพลายเจ้างา หรือพลายไข่นุ้ย ซึ่งออกมาจากพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี มาตั้งแต่ ม.ค. 65 และเข้ามาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านในเขต ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช มีประสิทธิภาพเกิดผลในทางปฏิบัติ แม้ปัจจุบันจะยังไม่พบว่าช้างพลายเจ้างา ทำร้ายชาวบ้านแต่พฤติกรรมการออกหากินในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านก็ทำให้พืชผลผลิตการเกษตรเสียหาย เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชขอให้สั่งกรมอุทยานฯดำเนินการจับและเคลื่อนย้ายช้างพลายเจ้างาเพื่อนำไปปล่อยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นหรือพื้นที่อื่นที่เหมาะสม

ส่วนเหตุที่ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวน ว่า การดำเนินการย้ายช้างไปยังเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าคลองงาที่อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นนั้น มีประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย และพื้นที่ดังกล่าวติดอยู่กับพื้นที่พิพาท หากนำช้างพลายเจ้างากลับไปยังพื้นที่อุทยานใต้ร่มเย็น ซึ่งเป็นถิ่นเดิมก็สามารถเดินกลับมายังพื้นที่พิพาทได้อีกโดยใช้เวลาเดินทาง 3-5 วันเท่านั้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างในการประชุมครั้งที่2/2566วันที่ 5เม.ย.66ได้กำหนดจุดรองรับช้างป่าที่มีปัญหา คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งในคดีที่พิพาทนี้ได้กำหนดให้กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสกพื้นที่รองรับช้างป่าที่มีปัญหา โดยมติดังกล่าวผ่านการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และเสนอโดยอธิบดีกรมอุทยานฯ และเห็นควรนำช้างตัวดังกล่าวไปอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง อีกทั้งหลังเกิดเหตุพิพาทกรมอุทยานฯเคยสั่งให้คณะเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ดำเนินการจับหรือเคลื่อนย้ายพลายเจ้างาเพื่อนำไปปล่อยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เพียงแต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามคำสั่ง ขณะเดียวกันกรมอุทยานให้ถ้อยคำว่าไม่มีเหตุขัดข้องเรื่องงบประมาณและเจ้าหน้าที่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญพร้อมปฏิบัติอยู่แล้ว หากศาลกำหนดมาตรการโดยให้จับพลายเจ้างาและเคลื่อนย้ายยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกรมอุทยานก็ไม่อุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ และหากต้องใช้พื้นที่ของนายศักดิ์สิทธิ์และราษฎรพื้นที่หมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 หมู่ 10 และหมู่ 11 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อดำเนินการจับและเคลื่อนย้ายพลายเจ้างา เจ้าของพื้นที่ก็ไม่ขัดข้อง ศาลฯจึงมีคำสั่งดังกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น