xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ สื่อรายงานข่าว “น้องต่อ” เข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก แนะลบข้อมูล-กำกับจริยธรรมเสนอข่าวอาชญากรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.ชี้ สื่อรายงานข่าว “น้องต่อ” เด็ก 8 เดือน ที่นครปฐมหายตัว เข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก แนะองค์กรสื่อร่วมรับผิดชอบ ประสานลบข่าวทางอินเทอร์เน็ต กำกับจริยธรรมการรายงานข่าวอาชญากรรม


วันนี้ (21 ก.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า จากการพิจารณากรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวน้องต่อ อายุ 8 เดือน หายตัวไปจากบ้านพักในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2566 ไม่เหมาะสม มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กและมารดา ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี รวมถึงครอบครัวและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณะ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจดีเอ็นเอ และเปิดเผยใบหน้านั้น เห็นว่า เป็นลักษณะการเสนอข่าวที่เกินความจำเป็น เพื่อกิจการสื่อมวลชนโดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และไม่เป็นไปตามจริยธรรมทางการประกอบวิชาชีพ ส่งผลกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของเด็กและครอบครัว ซึ่งการเปิดเผยอัตลักษณ์ของมารดาเด็ก ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ก็ถือว่าขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ โดยข้อมูลของบุคคลนั้นๆ จะยังอยู่ในระบบและสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งนำไปสู่การตีตราอันกระทบต่อสิทธิที่จะถูกลืม

“ดังนั้น ในชั้นนี้ จึงรับฟังได้ว่าการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนกรณีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเด็กอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”


นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า ขอให้องค์กรสื่อระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอาชญากรรมที่อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง และเพื่อยกระดับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของสังคมโดยรวมให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน กสม.จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติประสานกับผู้ให้บริการโปรแกรมการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ลบข่าวที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าวออก ให้มีนโยบายและแนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กำชับให้สื่อในกำกับดูแลปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือกับสื่อที่ไม่เป็นสมาชิกให้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นข่าว

2. ให้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำชับการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ให้ระมัดระวังไม่นำเสนอข่าวที่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้แก้ไขเยียวยากรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 3. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกระดับเผยแพร่ข้อมูลรูปคดีเท่าที่จำเป็น ต้องระวังการกระทบสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น