ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ 395 ต่อ 312 เสียง เห็นว่า การเสนอชื่อเพื่อโหวตนายกฯ เป็นญัตติ ไม่สามารถเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำอีกได้
วันนี้ (19 ก.ค.) การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) มีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ คือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตาม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้าน โดยระบุว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ เป็นญัตติที่ถูกตีตกไปแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายโต้แย้ง
บรรยากาศการอภิปรายเป็นไปด้วยความเข้มข้น ทั้งฝ่ายพรรคขั้วรัฐบาลเดิม กับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงฝั่ง ส.ว. ซึ่งยกเหตุผลและข้อบังคับ รวมถึงรัฐธรรมนูญว่าด้วยการโหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 สนับสนุนเหตุผลของฝั่งตนเอง ขณะที่พรรคก้าวไกล ต่างยืนยันว่า การเสนอชื่อบุคคลให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ นั้น เป็นเรื่องที่เสนอให้พิจารณา ไม่ใช่การเสนอญัตติตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุม
จนกระทั่งเวลา 16.50 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานที่ประชุมได้สั่งปิดการอภิปราย จากนั้นได้ให้สมาชิกกดบัตรแสดงตนเพื่อตรวจองค์ประชุมก่อนลงมติว่าการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติที่ต้องห้ามเสนอชื่อซ้ำตามข้อบังคับที่ 41 หรือไม่
ผลปรากฏว่า มีสมาชิกแสดงตนจำนวน 715 คน สมาชิกเห็นด้วยต่อญัตติดังกล่าว 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งถือว่าเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาให้พิจารณารอบสองได้ มติดังกล่าวจึงส่งผลการพิจารณาลงคะแนนให้นายพิธาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวันนี้ต้องสิ้นสุดลง โดยนายวันมูหะมัดนอร์ได้สั่งปิดการประชุมเมื่อเวลา 17.09 น.