"ประพันธุ์ คูณมี" ชี้ญัตติเสนอชื่อ "พิธา" เป็นนายกฯ ตกไปแล้ว ข้อบังคับประชุมห้ามเสนอซ้ำ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ยิ่งไม่ควรจะเสนอชื่ออีก วอนหยุดให้ความหวังพวกด้อมส้มแบบผิดๆ หยุดปลุกม็อบ ยอมรับและเคารพมติโดยชอบของรัฐสภา
วันนี้ (14 ก.ค.) นาย
กรณีที่ประชุมรัฐสภาได้มีการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยที่ประชุมได้มีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้เดียวให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ซึ่งผลการพิจารณาปรากฎว่า นายพิธาฯ ได้คะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงทำให้ญัตติดังกล่าว เป็นอันตกไป มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า กรณีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นายกรัฐมนตรี จะสามารถนำญัตติเดิมมาเสนอให้รัฐสภาพิจารณาโหวตในญัตติเดิมนี้ได้อีกหรือไม่นั้น ผมขอตอบว่า เสนอญัตติดังกล่าวเข้ามาให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งไม่ได้ครับ ถือว่าญัตตินี้ตกไปแล้ว จบไปแล้วครับ ด้วยเหตุผลดังนี้
1.ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 กำหนดว่า "ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติซึ่งยังไม่มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป" ซึ่งหากพิจารณาตามข้อบังคับดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าญัตติพิจารณาให้ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ตกไปแล้ว จะนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกไม่ได้ในสมัยประชุมนี้ หากจะนำมาพิจารณาต้องมีเหตุเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 272 วรรคสองเท่านนั้นครับ
2. มาตรา 272 วรรคสอง บัญญัติว่า" หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากี่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้สภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนี้ ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้"
จากหลักการสำคัญดังกล่าว หากโหวตครั้งแรกแล้วไม่สามารถได้บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าด้วยเหตุใด ประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะเปิดให้มีการลงคะแนนใหม่เองได้ ต้องให้สมาชิกรัฐสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาตามมาตรา 272 วรรคสอง เท่านั้น ประธานรัฐสภาจึงจะจัดให้การประชุมตามญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเสนอได้ แต่สภาก็ต้องมีเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม จึงจะดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คือให้มีการพิจารณาให้ความเห็นขอบบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี และในการพิจารณาครั้งนี้ ผู้ที่เคยได้รับการเสนอชื่อ(นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) จึงจะสามารถถูกเสนอชื่อเข้ามาโหวตใหม่ได้ การดำเนินการใดๆนอกจากแนวทางนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เมื่อรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้เช่นนี้แล้ว จึงไม่เปิดช่องทางอื่นให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกเสนอชื่อกลับมาให้รัฐสภาโหวตโดยง่าย หรือโหวตเลือกนายพิธาฯ ซ้ำซากไปเรื่อยๆเหมือนนักกฎหมาย หรือพวกกุนซือสมองทื่อเสนอให้โหวตไปเรื่อยๆจนสิ้นวาระของวุฒิสภา ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลและนายพิธาฯ ควรให้การศึกษาพวกด้อมส้มให้โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย
3.หากในระหว่างนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หยุดปฎิบัติหน้าที่ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นกรณีที่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเสนอชื่อนายพิธาฯ มาให้รัฐสภาพิจารณา จึงไม่ควรไปปลุกให้ความหวังพวกด้อมส้มแบบผิดๆ ควรยอมรับและเคารพมติโดยชอบของรัฐสภา หยุดปลุก ม็อบ สร้างปัญหาให้บ้านเมืองเสียทีเถอะครับ ความดื้อรั้น มีแต่เกิดหายนะกับตน