มหาดไทย เวียนเพิ่มอำนาจ “ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ” อนุญาตบุคคลอื่น เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณสมบัติแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หลากหลายกรณี ทั้งใช้ชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน เน้นกีฬา ประเพณีงานรื่นเริง มหรสพ กรณี รัฐขอเข้าปลูกสร้างอาคารถาวร ต้องแจ้งถอนสภาพที่ดินก่อน กรณีขออนุญาตเข้าก่อสร้างสารพัดโครงการ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจสุงสุดก่อน ท้ายสุดกรณีเข้า ใช้พื้นที่ “หน้าหาด ชายหาด โซนนิง” ให้ใช้ชั่วคราวเท่านั้น
วันนี้ (17 ก.ค. 2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประะทศ
แจ้งหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบจาก “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในการใช้ หรือยินยอมให้บุคคลอื่น “ใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
พบว่า หลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจาก “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เท่านั้น และปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน
เช่น กรณี ทบวงการเมืองที่จะใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ทางราชการ เช่น ก่อสร้างหรือปลูกสร้างอาคารถาวร มีวัตถุประสงค์ในการยึดถือครอบครอง เพื่อใช้ประโยชน์ของทบวงการเมือง
จะต้องแจ้งความประสงค์ขอถอนสภาพที่ดิน ตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) หากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ก่อนการถอนสภาพที่ดินจะแล้วเสร็จ
กรณีนี้ จะต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินด้วย เช่น เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานราชการ หรืออาคารส่วนควบอันเกี่ยวเนื่องกับ สำนักงานราชการ
ขณะที่การขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น ไม่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นกรณีที่กิจกรรมนั้น “ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่” ของนายอำเภอ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
กรณีการให้ความเห็นชอบจากผู้ว่าฯ เป็นการอนุญาตหรือยินยอมให้ บุคคลใด ใช้ประโยชน์ในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นการชั่วคราว
มีระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน โดยมิได้เป็นการเข้าไปยึดถือ ครอบครอง หรือ ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างมั่นคงถาวร ไม่ทำให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินเสื่อมสภาพ แต่เป็นการ “รอนสิทธิของประชาชนได้เป็นการชั่วคราว”
และไม่เกินความจำเป็น ในลักษณะเป็นการจัดกิจกรรมสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานหรือการจัดแข่งขันกีฬา เช่น การจัดงานตามประเพณีต่าง ๆ การจัดงานกาชาด การจัดงานรื่นเริง มีการแสดงมหรสพ หรือการจัดกิจกรรมเดิน - วิ่ง - มาราธอน เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะขออนุญาตใช้ประโยชน์ ให้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ต่อนายอำเภอ หรือ อปท.ที่ที่ดินตั้งอยู่ โดยให้มีแผนที่สังเขปแสดงที่ตั้ง มีแผนงานในการบริหารจัดการพื้นที่ที่จะขออนุญาต
ให้ระบุวัตถุประสงค์ เหตุผลความจำเป็น ระยะเวลา และการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์
โดยเมื่อนายอำเภอ หรืออ อปท.ได้รับหนังสือแสดงความประสงค์ ให้ตรวจสอบและสรุปข้อเท็จจริง พร้อมความเห็นเสนอผู้ว่าฯ เพื่อพิจารณาให้ ความเห็นชอบต่อไป
สำหรับ กรณีกิจกรรมตามโครงการ “มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการปรับปรุงหรือพัฒนาที่ดิน” โดยไม่กระทบต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของราษฎร และราษฎรสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ดีกว่าเดิม
เช่น การก่อสร้างท่อลอดเหลี่ยมคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ลงในลำเหมืองสาธารณประโยชน์ หากเป็นการดำเนินการของอำเภอ หรือ อปท. เพื่อบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก ก็สามารถดำเนินการไต้
“แต่หากเป็นการดำเนินการของส่วนราชการอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันก่อน
เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมาย ที่ให้อำนาจส่วนราชการดำเนินการ โดยที่ไม่ต้องขอความยินยอม”
กรณี “ก่อสร้างสะพานข้ามลำเหมืองสาธารณประโยชน์” อันถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อใช้ประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม
โดยการก่อสร้างดังกล่าวไม่ขัดขวางการใช้ประโยขน์ร่วมกันของราษฎรในพื้นที่ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
รวมถึง “การเชื่อมท่อระบายน้ำ” ทางสาธารณประโยชน์จากพื้นที่ของเอกชนกับระบบสาธารณูปโภคชองทางราชการ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
กรณีที่ อปท.จะเข้าไปใช้พื้นที่ “หน้าหาด ชายหาด” ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เช่น การจัดโซนนิงให้บริการสาธารณะ โดยการปักร่มหน้าหาด สำหรับหลบแดดหลบฝน ให้กับนักท่องเที่ยว
หรือนำที่ดินไปจัดระเบียบผู้ประกอบอาชีพหน้าหาด เช่น หมอนวดชายหาด กลุ่มร่มเตียง กลุ่มหาบเร่หิ้วกระติก เป็นการเข้าไปประกอบอาชีพเพียงชั่วคราวระยะเวลาหนึ่ง
“เมื่อเสร็จจากการประกอบอาชีพ ในแต่ละครั้ง ก็เก็บอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการประกอบอาชีพออกไปจากบริเวณพื้นที่สาธารณะนั้น”
สุดท้าย “รายได้ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม” ที่ได้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัดิของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.).