xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ชูผลงานพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน มุ่งก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ชูผลงานพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศรองรับโลกศตวรรษที่ 21 เดินหน้าประเทศไทยอย่างมีทิศทางและสอดคล้องกับสถานการณ์โลก ให้สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ในเร็ววัน

วันนี้ (17 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา - Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

ในการบริหารราชการแผ่นดินตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมได้มุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่สอดคล้องกับบริบทโลกในอนาคต โดยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศรองรับโลกศตวรรษที่ 21 นั้น ผมให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) เทคโนโลยีดิจิทัล (2) นวัตกรรม และ (3) โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่จะเป็น “ประตูสู่โอกาส” ให้ทุกภาคส่วนของประเทศ สามารถสร้างความเข้มแข็งและความมั่งคั่งให้กับตนเอง พร้อมทั้งเชื่อมโยงกันเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของเราในวันข้างหน้า

ปัจจุบัน ความพยายามต่างๆ ของเราได้ประสบความสำเร็จ และผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรม ให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้าแล้ว อาทิ
1. ยกระดับบริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ (1) การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เช่น พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) (2) การพัฒนาแอปพลิเคชั่นภาครัฐ เช่น “ทางรัฐ” และ “ไทยดี” (ThaID) ที่ช่วยให้การติดต่อราชการในยุคดิจิทัล สะดวกและปลอดภัยขึ้น และ (3) การก้าวสู่ “สังคมไร้เงินสด” เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านราย การชำระเงินผ่าน “พร้อมเพย์” และ QR Payment และการใช้จ่ายเงินดิจิทัลผ่านแอป “เป๋าตัง” กว่า 50 ล้านคน และแอป “ถุงเงิน” ของร้านค้า-SME ทั่วประเทศ ในโครงการคนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน-ชิมช้อปใช้ เป็นต้น

2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ได้แก่ (1) ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น “ข้าว” ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้หลากหลาย ทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว เครื่องสำอาง และเครื่องดื่ม อาทิ สุราแช่พื้นเมืองจากข้าวมะลินิลสุรินทร์ สาโทจากข้าว กข 41 คุกกี้จากแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ครีมกันแดดจากน้ำมันรำข้าวทับทิมชุมแพ แชมพูสมุนไพรจากข้าวหอมกระดังงา เป็นต้น (2) ร่วมมือภาคเอกชนในการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสุขภาพ การเกษตรและอาหารมูลค่าสูง และ Net Zero Emission ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 300 ผลงานที่ได้รับการต่อยอดแล้ว ทั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดห่วงโซการผลิต ตั้งแต่ระดับฐานรากไปสู่ระดับประเทศพร้อมๆ กัน

3. วางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างต่อเนื่อง และเร่งรัดพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ (1) การเชื่อมโยงแหล่งผลิตภายในประเทศ สู่ตลาดภายนอกประเทศ เช่น ล่าสุดไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพิ่มขึ้นมาก จาก 90 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มเป็น 1,965 ล้านบาท ในปี 2565 และเป็น 2,848 ล้านบาท เพียงช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (2) สนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยคาดว่า ปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 29 ล้านคน จาก 11.2 ล้านคน ในปี 2565 (3) สร้าง Digital Ecosystem และ Open Platform สำหรับ SME และ Startups เสริมบทบาทให้ไทยเป็น "ศูนย์กลางด้านดิจิทัล" แห่งภูมิภาค และดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำของโลก เช่น AWS Huawei และ Ericsson ที่จะสร้างเม็ดเงินรายได้เข้าประเทศกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น

ผมเชื่อว่า ประเด็นหลักเหล่านี้ มีส่วนสำคัญช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตในช่วงที่ผ่านมาได้ และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าอีกหลายประเทศ โดยธนาคารโลกก็มีความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย และล่าสุดบริษัท Fitch Ratings สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยอยู่ที่ BBB+ มาอย่างต่อเนื่อง และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย อยู่ในระดับ "มีเสถียรภาพ" โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องจาก 2.6% ในปี 2565 เป็น 3.7% และ 3.8% ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ

ทั้งหมดนี้ นับเป็นการเดินหน้าประเทศไทยอย่างมีทิศทางและสอดคล้องกับสถานการณ์โลก ที่สำคัญคือ มีเป้าหมายและแผนการปฏิบัติในทุกระดับที่ชัดเจน ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าเส้นกราฟของการพัฒนาประเทศไทยหลังจากนี้ จะมีอัตราเร่งที่สูงกว่าในอดีตมาก เพื่อให้เราสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ในเร็ววันครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น