โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปี 2566 เป็นร้อยละ 3.9 จากเดิมร้อยละ 3.6 เนื่องจากเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น นายกฯ เชื่อมั่นนโยบายรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเห็นผลดีขึ้นตามคาด
วันนี้ (3 ก.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารโลก (World Bank : WB) เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ประจำเดือนมิถุนายน 2566 ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่งขึ้นในปี 2566 พร้อมปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.9 จากเดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 3.6 และเพิ่มจากร้อยละ 2.6 ในปี 2565 โดยการประเมินแนวโน้นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นนี้ เกิดจากอุปสงค์ต่างประเทศที่แข็งแกร่งเกินคาด โดยเฉพาะในจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องมาอย่างต่อเนื่อง ต้องขอบคุณความร่วมมือที่เกิดจากการทำงานของทุกฝ่าย ร่วมกันบูรณาการการทำงานจนเห็นเป็นผลสำเร็จ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในการกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลสูงสุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง จนเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการคาดการณ์ของธนาคารโลก
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ธนาคารโลกยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ฟื้นตัวขึ้นที่ร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยว โดยดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะกลับมาเกินดุลในปี 2566 ที่ร้อยละ 2.5 ของ GDP จากการค้าทั้งสินค้าและบริการ และภาวะตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การค้า และการบริการ รวมถึงการจ้างงานในภาคการค้าและการบริการยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยยอดสะสมนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมากกว่า 12.4 ล้านคน นำเงินเข้าไทยแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2567 และ 2568 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 และ 3.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแอกว่าที่คาด รวมถึงความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ออุทกภัยและภัยแล้งอย่างมาก โดยธนาคารโลกเห็นว่า ไทยมีความคืบหน้าในการรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ความท้าทายบางประการยังคงอยู่ ตั้งแต่มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) การประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอุทกภัยและภัยแล้งก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ สทนช. ได้สนับสนุนการวางแผนมาตรการบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งมากขึ้นด้วย
"นายกรัฐมนตรีขอบคุณความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้นจนเห็นเป็นรูปธรรม เป็นปัจจัยให้ธนาคารโลกปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ซึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจที่เดินมาอย่างถูกทางของรัฐบาล รวมถึงการพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน โครงสร้าง การเชื่อมโยงของประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเห็นเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันทำให้เห็นโอกาสและอนาคตที่สดใส และเชื่อว่าการพัฒนาของไทยจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายอนุชาฯ กล่าว