“นิพิฏฐ์” เย้ย “พิธา” พบจุดจบ เพราะ “อ่อนหัด” ยื่นแก้ รธน.272 “เข้าตาจน” ปลุก “ปชช.”กดดัน แถมไม่บรรลุธรรม ม.112 “โบว์” ซัด “ก้าวไกล” ตัวถ่วง “เพื่อไทย” “อดีตรองอธิการ มธ.” ยก ส.ว.ตาม รธน. ตอกกลับด้อมส้ม
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (16 ก.ค. 66) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า
“หรือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะบรรลุธรรม ?
ผมนั่งกินกาแฟกับชาวบ้านในฐานะผมเป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศนี้ ชาวบ้านในวงกาแฟถามผมว่า พิธา จะได้คะแนนเพิ่มจนสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่
ผมตอบสั้นๆ ว่า “ไม่” คู่สนทนาของผมถามต่อว่า ทำไม
ผมตอบว่า พิธา ท้าทายสมาชิกวุฒิสภา ด้วยการยื่นแก้อำนาจของสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ทั้งที่ตัวเองไปขอให้เขาโหวตให้ แบบนี้เขาเรียกว่า “อ่อนหัด”
ที่หนักไปกว่านั้น พิธา ออกคลิป ให้ประชาชนกดดันสมาชิกวุฒิสภา ให้เปลี่ยนใจมาเลือกตัวเอง แบบนี้ เขาเรียก “เข้าตาจน”
คู่สนทนาของผมถามต่อว่า ทำอย่างไร พิธาจึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ผมตอบว่า พิธา ต้องทำให้สมาชิกวุฒิสภา เชื่อมั่นว่า พิธา “บรรลุธรรมแล้ว” เขาถามต่อว่า หมายความว่าอย่างไร
ผมตอบว่า พิธา ต้องแสดงให้สมาชิกวุฒิสภาเห็นว่า คุณพิธา ต้องไม่มีทัศนคติที่เป็นอันตราย ต่อสถาบันหลักของชาติ
คู่สนทนา รุกต่อว่า เวลาที่เหลืออยู่นี้ พิธาจะเปล่งรัศมีให้สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่า ตัวเองบรรลุธรรมแล้ว ได้หรือไม่
ผมตอบว่า “ไม่” เพราะ พิธา ไม่มีมงคลชีวิต 38 ข้อที่ 4 กล่าวคือ “ไม่อยู่ในถิ่นอันสมควร” หมายความว่า บุคคลที่แวดล้อมพิธา ไม่เอื้อให้พิธาบรรลุธรรม ในระยะเวลา 3-4 วันข้างหน้านี้
เมื่อ พิธา ไม่สามารถเปล่งรัศมีให้เห็นว่า บรรลุธรรมแล้ว ไม่เหลือทัศนคติที่เป็นอันตรายตกค้างในกมลสันดานแล้ว วุฒิสมาชิก ก็คงไม่เลือกพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย เหมือนเดิม
แล้ววงกาแฟก็แยกย้าย กลับบ้านใครบ้านมัน/”
ขณะเดียวกัน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ทวิตเตอร์ @NuttaaBow ระบุว่า
“เป็นแผนภูมิที่แปลกประหลาดมาก ..
ก้าวไกลยังมีความคิดเสนอคุณพิธาในครั้งที่ 3 และเอาเรื่องแก้ ม.272 ไปผูกกับการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ทั้งที่พรรคเพื่อไทยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งนี้ เขาไม่ได้เป็นที่รังเกียจของวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ และจะสามารถผ่านการโหวตแคนดิเดทนายกฯได้สำเร็จสบายๆ ทันทีที่ไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการ
นี่คือ สถานการณ์จริงที่ทุกคนรู้ดี
สุดท้าย จะแก้รัฐธรรมนูญ ม.272 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีเสียงฝ่ายค้าน 20% ด้วยค่ะ ซึ่งตอนนี้ไม่มีฝ่ายค้านเพราะยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ ข้อความระบุว่า
“น่าเห็นใจ ส.ว.ทุกคนที่งดออกเสียง และลงคะแนนออกเสียงไม่เห็นชอบให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะบรรดากองเชียร์คุณพิธาที่อาจมีทั้งคนจริง ทั้ง IO ต่างออกมากระหน่ำด่ากันอย่างบ้าคลั่ง ใช้คำหยาบคายและต่ำช้า บางคนแช่งให้ไปตายก็มี ตามล่าครอบครัวเขา ข่มขู่คุกคาม มีแม้กระทั่งสร้างเพจปลอมเป็นตัว ส.ว.บางคน เขียนด่าด้อมส้มเพื่อให้ด้อมส้มเข้ามาด่าส.ว.คนนั้น ทำกันได้ถึงขนาดนี้
นี่ก็คือ ความเป็นประชาธิปไตยหรือ อะไรที่ไม่ได้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการก็โวยวาย ด่าทอ โดยไม่ได้สนใจว่ากติกาเป็นอย่างไรเลย คิดอย่างเดียวว่า ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลมา 14 ล้านเสียงแล้ว ทุกคนต้องยอมสยบให้พรรคก้าวไกล แบบนี้ต้องเรียกว่า “ประชาธิปไตยตามใจพวกกู”
เคยลองกลับไปดูหรือไม่ว่า ส.ว.และอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีที่มาอย่างไร หรือฟังแต่คนที่พร่ำบอกผ่านสื่อฝั่งเดียวกันว่า ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ส.ว.หรือสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้มี 250 คน ทุกคนมาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันกับ ส.ส. คือ ฉบับปี 2560 มาตรา 269 ในบทเฉพาะกาล ซึ่งกำหนดไว้เฉพาะใน 5 ปีแรก ประกอบด้วย ส.ว.ที่เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้กกต.ทำการสรรหาใน 10 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน และคณะกรรมการสรรหาที่ คสช แต่งตั้งสรรหาอีด 400 คน สุดท้ายให้คสช.คัดเลือกจากกลุ่มอาชีพให้เหลือ 50 คน และจากกลุ่มที่สรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาให้เหลือ 194 คน ให้สมาชิกวุฒิสภามีอายุ 5 ปี หลังจาก 5 ปีแล้ว การเลือกใหม่ให้กลับไปใช้วิธีการตามมาตรา 107 ตามปกติ
รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติมาโดยได้คะแนนเสียง 16.8 ล้านเสียง ส่วนอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ได้ระบุเป็นคำถามที่เรียกกันว่า คำถามพ่วงท้ายถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งก็ผ่านมาด้วยคะแนนเสียง 15 ล้านเสียง และกำหนดไว้ในมาตรา 272 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล
จะเห็นว่า การได้มาของ ส.ว.ทั้ง 250 คน ไม่ใช่มาอย่างง่ายๆ ทั้งยังผ่านประชามติมาแล้ว ซึ่งไม่ใช่ง่าย เช่นกัน ไม่ว่าจะอย่างไรต้องถือว่า ส.ว.ทั้ง 250 คน โดยรวมแล้วเป็นคนที่มีคุณภาพ อาจมีคุณภาพสูงกว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ ลองกลับไปดู ส.ว.สมัยที่ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งมาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เรียกกันว่า สภาพี่สภาน้อง ก็จะทราบได้ว่า ส.ว.ที่มาจากการสรรหามีความแตกต่างจาก ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไร ดังนั้น ส.ว.แต่ละคนแม้ในขั้นสุดท้าย คสช. จะเป็นผู้กลั่นกรองคัดเลือก ก็ไม่ใช่จะถูกสั่งให้ซ้ายหันขวาหันกันได้ง่ายๆ
เมื่อกติกาถูกกำหนดไว้เช่นนี้ ทุกคนที่เข้ามาในสนามแข่งขันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ย่อมรู้ดีว่า กติกาการแข่งขันเป็นอย่างไร มีใครได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร เมื่อเข้าร่วมแข่งขันก็ต้องถือว่า ยอมรับตามกติกานั้นแล้ว แต่เมื่อแข่งขันแล้วแพ้ กลับไม่ยอมแพ้ ไปด่าทอ คุกคาม ส.ว.ที่เขาทำตามหน้าที่ ใช้สมอง ใช้ดุลพินิจของเขาลงคะแนน หรือคนจำนวน 15 ล้านที่อนุญาตให้ ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีจากการลงประชามติ ไม่ใช่ประชาชน
พรรคก้าวไกล ก่อนการลงคะแนนในสภา ก็วิ่งเต้นล็อบบี้ ส.ว.กันอย่างสุดชีวิต จนถึงกับคุยว่าได้คะแนนเสียงครบตามที่ต้องการแล้ว ครั้นไม่ได้ตามที่ต้องการก็มีอาการเช่นเดียวกับด้อมส้ม โจมตีทันทีว่า ส.ว.ถูกขู่ไม่ให้โหวตให้คุณพิธา ส.ส.บางคนถึงกับโพสต์ว่า ส.ว.โหวตแบบไม่เจียมกะลาหัว หรือลืมไปว่า นี่คือ เกมการเมืองที่ต่างคนต่างก็ต้องแข่งขันกันอยู่แล้ว ล่าสุด ไปยื่นสภาขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ยกเลิกมาตรา 272 ทั้งที่รู้ว่า เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ทำเหมือนกับเด็กเล่นขายของกระนั้น
การกระทำทั้งหมดของด้อมส้มและของพรรคก้าวไกลเอง จะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นคุณต่อตัวเอง สังเกตว่า พรรคเพื่อไทยเองเริ่มมีอาการที่ไม่ปกติ ไม่แน่ว่าจะยังคงเหนียวแน่นกันเป็นข้าวต้มมัดหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึง ส.ว.ที่เขาคงไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยแต่จะตอบโต้อย่างดุเดือด งานนี้อาจมีคนต้องติดคุกเพิ่มอีกหลายคน หากยังดึงดันเสนอชื่อ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ครั้งนี้ ส.ว.หลายคนที่ถูกด่าเนื่องจากงดออกเสียง อาจเปลี่ยนใจไม่งดออกเสียงแต่เปลี่ยนเป็น ไม่เห็นชอบก็ได้
บอกได้เลยว่า หากยังเสนอคนเดิมเป็นนายกรัฐมนตรี จะโหวตกันอีกกี่ครั้ง ต่อให้ยอมถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งคงไม่ยอมอยู่แล้ว ก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะเขาไม่เชื่อพวกคุณอีกแล้ว”