รองโฆษกรัฐบาล ห่วงใยสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในช่วงฤดูฝน พบตัวเลขผู้ป่วยมาลาเรียเพิ่ม เตือนประชาชนและผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง 10-14 วัน มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยร่างกาย ให้พบแพทย์โดยเร็ว
วันนี้ (16 ก.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนหลังรับทราบรายงานสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย (ณ 7 ก.ค. 66) กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้า 835 ราย นายกรัฐมนตรีจึงฝากความห่วงใยมายังประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีไร่มีสวนติดกับเขตพื้นที่ป่าเขา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารที่ลาดตระเวนตามแนวชายแดนที่ติดพื้นที่ป่า รวมทั้งประชาชนที่ชอบเดินป่า เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนเหมาะต่อการเจริญพันธุ์ของยุงหลายชนิด เสี่ยงติดเชื้อโรคมาลาเรียซึ่งมียุงก้นปล่องที่ออกหากินเวลากลางคืนเป็นพาหะนำโรค โดยกรมควบคุมโรคแนะนำให้ประชาชนสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง หากต้องนอนค้างคืนในป่าควรกางมุ้ง หรือหากนอนเปลควรหามุ้งคลุมเปลป้องกันยุงกัด จะช่วยป้องกันโรคไข้มาเลเรีย หรือไข้ป่า ไข้จับสั่นได้
นางสาวรัชดา กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย จากระบบมาลาเรียออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม 9,255 ราย (รายงานเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 835 ราย) จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ตาก 5,513 ราย รองลงมาคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1,026 ราย และ จังหวัดกาญจนบุรี 945 ราย เป็นคนไทย 4,158 ราย (ร้อยละ 44.9) และ ต่างชาติ 5,097 ราย (ร้อยละ 55.1) พบผู้เสียชีวิต 3 ราย ที่จังหวัดตาก ทั้งนี้ โรคไข้มาลาเรีย เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม โดยมียุงก้นปล่องซึ่งมักอาศัยอยู่ตามป่าเขาเป็นพาหะ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามพื้นที่ป่าเขา รวมถึงพื้นที่แถบชายแดน มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อาการของโรคไข้มาลาเรีย คือ เมื่อผู้ป่วยถูกยุงก้นปล่องตัวเมียกัด จากนั้นประมาณ 10-14 วัน จะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะเป็นพักๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร หากไปพบแพทย์ทัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาในเวลาไม่นาน แต่หากไปพบแพทย์ช้า ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
“กรมควบคุมโรคแนะนำให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงโรคไข้มาลาเรีย 10-14 วัน แล้วมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย คลื่นไส้และเบื่ออาหาร ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่โรงพยาบาล ซึ่งมีขั้นตอน คือ การเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยา และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง มาตรวจเลือดซ้ำตามแพทย์นัด และเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการควบคุมยุงพาหะ ในพื้นที่ให้คลอบคลุมทุกหลังคาเรือน เร่งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการ 1-3-7 และเฝ้าระวังการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในพื้นที่ และสำหรับประชาชนเมื่อต้องเข้าป่า หรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเอง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง เมื่อต้องนอนค้างคืนในป่า ควรนอนในมุ้ง โดยมุ้งต้องอยู่ในสภาพดีไม่มีรูขาด รวมทั้งนำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นางสาวรัชดา กล่าว