“อดีตรองอธิการ มธ.” โฟกัส กฎหมายนิรโทษคดีแสดงออกทางการเมือง ชี้ อาจรวม คดี ม.112 ซัด พรรค ปากไม่เห็นด้วย “แก้ ม.112-จงรักภักดี” แต่ร่วม “ก้าวไกล” “ดร.เสรี” อัด “ด้อมส้ม” รู้ไม่จริง 14 ล้าน ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพจเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุ ว่า
“หลังจากที่เราได้ตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ในที่สุด วันที่ 13 กรกฎาคม ก็จะเป็นวันที่เราจะได้รู้กันว่า การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีจะเสร็จสิ้นลงในการประชุมครั้งเดียวหรือหลายครั้ง หรือจะลงคะแนนกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า จนกว่าสมาชิกภาพของวุฒิสมาชิกจะสิ้นสุดลง อย่างที่มีคนชี้ช่องว่า ทำได้เพื่อให้ได้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี
ขอย้อนกลับไปดูข้อตกลงครั้งสุดท้าย 4 ข้อ ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ในวันก่อนวันเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
1. เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 โดยพรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้
2. บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมผลักดันวาระที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน
3. ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรค ในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลง MOU ที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566
4. พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ
ข้อ 1 เป็นเรื่องการกำหนดตัวประธานสภาและรองประธานสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 ว่าจะเป็นของพรรคใด
ข้อ 2 เป็นข้อความที่เขียนไว้เพื่อความเท่ ตามแบบฉบับของพรรคก้าวไกล
ข้อ 3 เป็นข้อตกลงที่แสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลยอมลงให้พรรคเพื่อไทย เพื่อให้พรรคเพื่อไทย “สนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสุดความสามารถ” แสดงว่า พรรคก้าวไกล กลัวมากว่าจะไม่ได้เป็นรัฐบาล
ข้อ 4 เป็นข้อที่พรรคก้าวไกลต้องการผูกมัดพรรคเพื่อไทยให้สนับสนุน กฎหมายนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ เพื่อยุบสภากลาโหม และให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพกลับมาเป็นอำนาจของฝ่ายการเมือง การจัดทำกฎหมายกฎอัยการศึกฉบับใหม่เพื่อตัดอำนาจกองทัพ และสุดท้ายคือ การยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เพื่อแลกกับการยอมให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนที่พรรคเพื่อไทยเลือก
ที่ต้องจับตาดู คือ กฎหมายนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง ซึ่งแม้เขียนไว้กลางๆ แต่เชื่อได้เลยว่าจะต้องรวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อย่างแน่นอน และก็เชื่อได้ด้วยว่า พรรคก้าวไกลต้องผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และหากเป็นไปได้ก็จะยกเลิก และจะพยายามต่อไปอย่างไม่ลดละจนกว่าจะสำเร็จ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ต้องรู้แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการเปิดทางเลือกในการได้เป็นรัฐบาลไว้ทุกทางเลือก ไม่ว่าจะร่วมกับพรรคร่วมอีก 7 พรรค หรือย้ายขั้วไปร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็ตาม
ต้องขอชมเชยพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน แม้จะรู้ว่าแพ้แน่ๆ แต่ก็ยังส่ง คุณวิทยา แก้วภราดัย เข้าแข่งขันเพื่อเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เพราะรู้ดีว่าผู้ที่พรรคก้าวไกลเสนอมีทัศนคติอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่างจากพรรคร่วม 8 พรรค ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการได้ร่วมรัฐบาลมากไว้เหนือสิ่งอื่นใด แต่ก็ไม่ว่ากัน ไม่ว่าจะมีความจงรักภักดี หรือเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ทุกคนย่อมมีเสรีภาพที่จะเชื่อหรือรู้สึกอย่างไรก็ได้ แต่พรรคการเมืองหลายพรรค ปากบอกไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112 ปากบอกมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับเข้าร่วมกับพรรคการเมืองที่เป็นที่ทราบดีว่า มีทัศนคติอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ฉะนั้น ก็แสดงตัวกันให้ชัดเจนกันเลยดีกว่า อย่าเอาแต่อ้อมๆ แอ้มๆ กันอยู่เลย ประชาชนเขาจะได้ตัดสินใจได้ถูกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป”
ขณะเดียวกัน ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า
“ด้อมส้มโวยวายว่าเลือกตั้งมาแล้ว พรรคส้มชนะแล้ว ได้จำนวน ส.ส. มากกว่าพรรคอื่นๆ แล้ว รวมเสียงกับพรรคอื่นๆ รวม 8 พรรค มีเสียง 312 เสียง ทำไมถึงยังตั้งรัฐบาลไม่ได้
พวกเขาบอกว่า ทำไมไม่ฟังเสียงประชาชน พ่อของส้มเองก็บอกว่า คะแนนที่พรรคเขาได้นั้นเป็นฉันทามติ ซึ่งมันไม่ใช่ มันไม่ถึง 50% มันแค่ 30% กว่าเท่านั้น
จะให้ ส.ว. เขาฟังประชาชน 14 ล้านคน ที่เลือกพรรคส้ม แล้วอีก 20 กว่าล้าน ที่เขาไม่ได้เลือกพรรคส้มล่ะ เขาไม่ใช่ประชาชนหรือไร ส.ว. เขาฟังประชาชนที่ไม่เลือกพรรคส้มได้ไหมล่ะ
แล้วคนที่เลือกส้ม 14 ล้านคนเห็นด้วยกับนโยบายแก้ 112 นโยบายกระจายอำนาจ นโยบายต่างประเทศของพรรคส้มทุกคนจริงหรือ อาจจะไม่รู้เลยก็ได้
บางคนบอกว่า อยากให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลง แล้วพรรคส้มเขาจะเปลี่ยนประเทศอย่างไร คนเลือกพรรคส้มรู้หรือเปล่า พรรคส้มเขาจะเปลี่ยนประเทศอย่างไร
คนที่เลือกเพราะอยากได้สิ่งที่พรรคส้มเขาหาเสียงว่าจะแจก สุดท้าย เขาก็ทำไม่ได้ตามที่หาเสียงไว้ รู้สึกแล้วยัง และถ้าทำจริง บ้านเมืองก็พินาศ
ตอนนี้ว่าที่ตำแหน่งต่างๆ ของพรรคส้มที่ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ในการจะบริหารประเทศนั้น หลายคนฟังแล้วตกใจ เพราะมันแสดงถึงความไม่มีประสบการณ์เพียงพอ
ดังนั้น อย่าโวยวายว่าเลือกตั้งมาแล้ว ชนะแล้ว ทำไมตั้งรัฐบาลไม่ได้ หัดหาข้อมูลบ้างว่านโยบายพรรคส้มเป็นอย่างไร คนที่เลือกพรรคส้ม ทำไมถึงเลือก
จะได้มองเห็นว่า ทำไมคนจำนวนมาก (น่าจะมากกว่า 14 ล้านคน) ไม่อยากให้พรรคส้มที่ได้ ส.ส. มากที่สุดเป็นรัฐบาล
จะแสดงความคิดเห็นอะไร หาข้อมูลหน่อยนะ”