xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ชี้พิรุธ “พิธา” ขายที่ดิน แจ้งเป็นทั้งผู้จัดการ-ผู้รับโอนมรดก ต่างจากไอทีวี ยื่น กกต.ฟันซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เรืองไกร” ยื่น กกต.ชี้พิรุธ “พิธา” ปมขายที่ดิน แจ้งจดทะเบียนเป็นทั้งผู้จัดการมรดก-ผู้รับโอนมรดก แตกต่างจากกรณีถือหุ้นไอทีวี ซ้ำ วันได้รับโอนมรดกเป็นวันพ่อตาย ก่อนศาลแพ่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก แถมเจ้าตัวไม่อยู่ในประเทศ

วันนี้ (5 ก.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งคำร้องทางไปรษณีย์ไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบข้อมูลการขายที่ดินของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ว่า การขายที่ดินโฉนดที่ 13543 เลขที่ดิน 501 หน้าสำรวจ 1516 ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 เหตุใดในหลังโฉนดที่ดิน รายการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 60 ระบุว่า ประเภทการจดทะเบียน คือ ผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 1860/2550 ลว. 16 มี.ค. 50 ผู้ให้สัญญา คือ นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ (ตาย) ผู้รับสัญญา คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้จัดการมรดกนายพงษ์ศักดิ์ แต่ทำไมในหลังโฉนดที่ดิน รายการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2560 ลำดับต่อมา ระบุว่า ประเภทการจดทะเบียน คือ โอนมรดก ผู้ให้สัญญา คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (ผู้จัดการมรดก นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์) ผู้รับสัญญา คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

นอกจากนี้ ทำไมบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 66 ระบุในข้อ 1. ว่า ข้าพเจ้าผู้โอนได้อสังหาริมทรัพย์นี้ มาโดย (1) การรับโอนมรดกเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2549 แต่ในหนังสือสัญญาขายที่ดิน เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ข้อ 4. กลับระบุว่า ผู้ขายได้ที่ดินมาโดยการรับโอนมรดก เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2549 ไม่ค้างชำระภาษีบำรุงท้องที่

“จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวนี้ของนายพิธา ทำให้สงสัยว่า ทำไมจึงแตกต่างจากข้อเท็จจริงการเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี ตามแบบ บมจ.006 ตามรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ปี 2551-2566 ที่มีการระบุชื่อผู้ถือหุ้น คือ นายพิธา โดยไม่มีการระบุวงเล็บท้ายชื่อว่า (ผู้จัดการมรดก นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์) ตามที่สื่อมวลชนมีการเผยแพร่เอกสารและต่อมาวันที่ 25 พ.ค. 2566 นายพิธา ได้โอนหุ้นออกไปแล้ว”

นายเรืองไกร ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่ นายพิธา ระบุในบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 66 ว่า ตัวนายพิธาผู้โอนได้อสังหาริมทรัพย์นี้ มาโดย การรับโอนมรดกเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2549 และการระบุในหนังสือสัญญาขายที่ดิน เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ข้อ 4. ว่า ผู้ขายได้ที่ดินมาโดยการรับโอนมรดก เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2549 นั้นถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากเป็นวันที่ 18 ก.ย. 49 เป็นวันที่นายพงษ์ศักดิ์ ตาย และเป็นวันก่อนที่ศาลแพ่งจะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 50 อีกทั้งในวันที่ 18 ก.ย. 49 นายพิธา ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย รายการจดทะเบียนที่ดินดังกล่าว จึงแตกต่างจากทะเบียนผู้ถือหุ้น บมจ.006 หรือไม่อย่างไร และเชื่อว่า ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อ กกต.ในการพิจารณายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะ ส.ส.ของนายพิธาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น