"ประยุทธ์" หารือ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี ที่ใกล้ชิดมายาวนาน พร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือที่มีศักยภาพร่วมกัน โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน สาธารณสุข รถไฟฟ้า EV และการพัฒนาที่ยั่งยืน
วันนี้ (30 มิ.ย.) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเก-ออร์ค ชมิท (H.E. Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่ออำลาในโอกาสพ้นจากหน้าที่ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีชื่นชมเอกอัครราชทูตเยอรมนี ที่มีส่วนสนับสนุนความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยกับเยอรมนีที่ดำเนินมาอย่างราบรื่นและยาวนาน ตลอดการรับหน้าที่ในประเทศไทย โดยเมื่อปี 2565 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสการครบรอบ 160 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ในระดับประชาชนให้มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณเอกอัครราชทูตเยอรมนี สำหรับบทบาทที่สร้างสรรค์และความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีอย่างแข็งขัน ด้วยความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมไทย ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ดำรงตำแหน่ง โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า เอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ คนใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการสานต่อความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน พร้อมทั้งเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ ระหว่างกันมากขึ้น
เอกอัครราชทูตเยอรมนี ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่สละเวลาให้เข้าเยี่ยมคารวะ ยินดีและมีความสุขอย่างยิ่งที่ได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย พร้อมยืนยันจะคงบทบาทในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเยอรมนีต่อไป นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ ชื่นชมพลวัตความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนี โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสองประเทศ และทั่วโลก โดยเยอรมนีพร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ได้แก่
ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไทยและเยอรมนียังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ พลังงาน วิชาการ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พร้อมขอให้เอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ สนับสนุนการลงทุนของเยอรมนีในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ Bio-Circular-Green Economy ซึ่งเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญ ไทยยืนยันความพร้อมรองรับการลงทุนในทุก ๆ ด้าน ทั้งการเชื่อมโยงทางกายภาพ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้เยอรมนีช่วยผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และปัจจัยดึงดูดให้กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
ด้านเอกอัครราชทูตเยอรมนี พร้อมผลักดันให้มีความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ชื่นชม และประจักษ์ถึงศักยภาพของประเทศไทยซึ่งมีความพร้อม และนักลงทุนเยอรมนีต่างให้ความเชื่อมั่นและเลือกลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ด้านเอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ ยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพยุโรปให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อทุกฝ่าย รวมถึงเยอรมนีด้วย
ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลเยอรมนีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสนับสนุนโครงการเพื่อการพัฒนาในไทยและโครงการในรูปแบบไตรภาคีหลายโครงการ พร้อมทั้งชื่นชมเอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ ที่ได้มีบทบาทนำในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในไทย ผ่านการสนับสนุนการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) การทดลองปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการรณรงค์การแยกขยะเพื่อรีไซเคิล รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมในโอกาสการครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ภายใต้ธีม “การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งช่วยสร้างศักยภาพให้แก่นักศึกษาไทย พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีจากฝ่ายเยอรมนี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างกันในระดับต่าง ๆ ต่อไป
ด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีขอบคุณเยอรมนีที่ได้มอบยา วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2564 และล่าสุด (22 มิถุนายน 2566) ได้มอบวัคซีนให้แก่ไทย จำนวน 999,360 โดส ด้านเอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ ยินดีและชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถในการวางมาตรการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ไทยสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความท้าทายมาได้ด้วยดี พร้อมสนับสนุนความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลได้วางรากฐานด้านการพัฒนาประเทศในระยะยาวมาโดยตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในการรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ในด้านการเมือง เอกอัครราชทูตเยอรมนี หวังว่า การเมืองไทยภายหลังเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้มั่นใจว่า การเมืองไทยจะดำเนินการไปตามกระบวนการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน