xs
xsm
sm
md
lg

ณ ปี 2566 กว่า 5.9 หมื่นครัวเรือน ใน 48 จังหวัด ยังไร้ไฟฟ้าเข้าถึง หลังสารพัดหน่วยงานรัฐ แจงเวทีสํารวจหมู่บ้าน “ตกสำรวจ” ในพื้นที่หวงห้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดข้อมูลมหาดไทย เวทีสํารวจหมู่บ้านในพื้นที่หวงห้าม พบ “ตกสำรวจ” ไร้หน่วยงานรัฐเข้าพัฒนา ทั้งระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ กว่า 8,022 แห่ง เฉพาะ “กฟภ.” พบ 48 จังหวัด ณ ปี 2566 “ยังไม่มีไฟฟ้าใช้” 731 กลุ่มบ้าน 59,122 ครัวเรือน เผย “ปลัดเก่ง” สั่ง “กรมที่ดิน” ประสาน “พศ.” เข้ารังวัด ด่วน! หลังพบ พำนักสงฆ์ สำนักสงฆ์ ขออนุญาติจัดตั้งวัดในป่า/ถ้ำ ถึงปี 65 พรึบ! 8,529 แห่งทั่วประเทศ

วันนี้ (28 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ภายหลังผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย รับทราบความคืบหน้าการสํารวจและรายงานผลข้อมูลการสํารวจพื้นที่หมู่บ้านที่ไม่สามารถพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและระบบสาธารณูปการ

เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่หวงห้าม ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าบางประเภท รวมถึง “เขตทหาร” มีถึง 8,022 แห่ง (หมู่บ้าน/ชุมชน) ในพื้นที่ 67 จังหวัด 288 อําเภอ 792 ตําบล

พบว่า เฉพาะด้านไฟฟ้า มีถึง 2,300 แห่ง (หมู่บ้าน/ชุมชน) ในพื้นที่ 61 จังหวัด 276 อําเภอ 626 ตําบล

และได้จัดส่งข้อมูลให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจัดส่งให้มหาดไทย ใช้เป็นข้อมูลในการบูรณาการแก้ไขปัญหา

กฟภ. ได้เข้าตรวจสอบและรายงาน พบว่า มีกลุ่มบ้านและครัวเรือน "ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้" มีจํานวนทั้งหมด 731 กลุ่มบ้าน 59,122 ครัวเรือน ในพื้นที่ 48 จังหวัด

โดยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จํานวน 216 กลุ่มบ้าน 17,539 ครัวเรือน ซึ่งมีพื้นที่ที่อยู่ระหว่างขออนุญาต/ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA)

จํานวน 2 กลุ่มบ้าน 462 ครัวเรือน และยังไม่ได้ดําเนินการ 214 กลุ่มบ้าน 17,077 ครัวเรือน และพื้นที่ที่ไม่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จํานวน 515 กลุ่มบ้าน 41,583 ครัวเรือน

มีการรายงานปัญหาว่า บางพื้นที่ไม่สามารถขยายเขตไฟฟ้าได้ เนื่องจากเอกสารประกอบการขอขยายเขตไฟฟ้าไม่ครบถ้วน เช่น สิทธิการครอบครองไม่ชัดเจน/ไม่มีทะเบียนบ้าน

ขณะที่ผู้บริหาร มท. สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดําเนินการแก้ไขปัญหาการพิสูจน์สิทธิ เช่น กรณีไม่มีทะเบียนบ้านให้ดําเนินการให้มีเอกสารประกอบการขออนุญาตอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ กฟภ.ได้เสนอทางเลือกในการขยายเขตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน เช่น โซลาร์เซลล์ หรือ ระบบไฟฟ้าขนาดเล็ก (Mini-grid)

นอกจากนี้ ในปัญหาที่จะดําเนินการ “ปักเสาพาดสายขยายเขต” สําหรับพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1เอ, ชั้น 1บี จะต้องมีการจัดทํารายงานการประเมิน EIA ตามมติคณะรัฐมนตรี (28 ม.ค. 2563)

เรื่อง ขอทบทวนและยกเลิกมติ ครม.เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 “ทําให้ยังไม่สามารถดําเนินการปักเสาพาดสายขยายเขตได้”

อย่างไรก็ตาม กรณีข้างต้น กรมป่าไม้ ระบุว่า ในการยื่นขออนุญาตในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 3 4 5 ไม่ต้องจัดทํารายงาน EIA ให้ทําแค่เพียงรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Accounting Report; EAR)

และสําหรับพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดําเนินการยื่นขออนุญาต ให้ดําเนินการยื่นขออนุญาตตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่กําหนด ตามมติคณะรัฐมนตรี (26 พ.ย. 2561) เรื่องการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทํากินของราษฎรในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

ล่าสุด กรมป่าไม้ อนุญาตปักเสาพาดสายขยายเขต ไปแล้ว 3.6 ล้านไร่

ในที่ประชุมคราวเดียวกัน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังขอให้จังหวัดจัดประชุม “คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ระดับจังหวัด” ตามคําขอใช้ประโยชน์พื้นที่ของวัด ในพื้นที่กรมป่าไม้

ภายหลังพบว่า มีวัด ที่พักสงฆ์ อยูในเขตหวงห้าม ไม่ได้เข้ารับการพัฒนาถึง 899 แห่ง โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และจัดส่งรายงานให้กรมป่าไม้ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่

ยังส่งการให้ “กรมที่ดิน” สนับสนุนช่างรังวัดในการรังวัด กรณีมีการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อตั้งวัด/ที่พักสงฆ์/ศาสนสถาน

หากได้รับการประสานจากสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เช่น ขอบเขตแผนที่ของวัด/ที่พักสงฆ์ ตามนโยบายฝากป่าไว้กับวัด เป็นต้น

สำหรับ “การแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้” นั้น ผู้บริหาร มท.รับรายงานจาก กรมป่าไม้ ว่า มีที่พำนักสงฆ์ สำนักสงฆ์ ขออนุญาตจัดตั้งวัดในพื้นที่ ป่า/ถ้ำ จนถึงปี 2565 มีถึง 8,529 แห่งทั่วประเทศ

“ทั้งในป่าสงวน และป่าตามมาตรา 41 เฉพาะในเชียงใหม่ มีถึง 650 แห่ง จ.ร้อยเอ็ด 511 แห่ง จ.ขอนแก่น 459 แห่ง จ.ชัยภูมิ 408 แห่ง จ.ศรีสะเกษ 367 แห่ง จ.นครพนม 347 แห่ง จ.เลย 326 แห่ง จ.ตาก 311 แห่ง”


กำลังโหลดความคิดเห็น