xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานตราดเดินหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสะตอ แก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - ชลประทานตราด ร่วมสำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสะตอ แก้ปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัยให้ราษฎรในพื้นที่ จ.จันทบุรี และตราด

วันนี้ (1 มิ.ย.) นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมด้วย นายธำรงศักดิ์ นครวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตราด และนายวัชระ หัสนาค ผู้อำนวยการโครงการประสานงานพื้นที่ที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางลงพื้นที่ ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ และ ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด เพื่อตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ

หลัง นายสะอาด บุษยะพินิจ ราษฎรใน ต.สะตอ อ.เขาสมิง ได้ทำหนังสือขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และยังต้องเผชิญปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนไปยังสำนักพระราชวัง

กระทั่งมีการประสานงานมายังสำนักงาน กปร.เพื่อให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนทำหนังสือรายงานไปยังสำนักพระราชวังเพื่อถวายฎีกาไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


นายวัชระ หัสนาค ผู้อำนวยการโครงการประสานงานพื้นที่ที่ 1 เผยว่า นายสะอาด บุษยะพินิจ ได้แจ้งว่าในพื้นที่ ต.สะตอ ประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งมานาน และในปี 2540 ได้เกิดภาวะภัยแล้งอย่างหนัก จนทำให้น้ำในคลองสะตอแห้งจนสามารถเดินข้ามไปมาได้

ส่วนในปี 2542 ยังได้เกิดน้ำท่วมหนักจนทำให้ นายสะอาด บุษยะพินิจ ต้องหารือกับประชาชนในพื้นที่ และองค์การบริหารส่วนตำบลสะตอ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา สุดท้ายจึงได้ทำเรื่องขอพระราชทานสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ โดยให้เหตุผลว่าหาก สร้างได้จะเกิดผลดีต่อชาวบ้านในพื้นที่ 6 ตำบล

ประกอบด้วย ต. ช้างทูน และ ต.บ่อพลอย ใน อ.บ่อไร่ รวมทั้ง ต.สะตอ วังตะเคียน ประณีต และ ต.เทพนิมิต ใน อ.เขาสมิง รวมทั้ง ต.ตกพรม ใน อ.ขลุง จ.จันทบุรี โดยมีพื้นที่กว่า 6 หมื่นไร่ที่จะได้รับประโยชน์ และยังสามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย

ด้าน นายประโมทย์ จันทร์กระจ่าง นายก อบต.สะตอ เผยว่า ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ ต.สะตอ มีอาชีพทำการเกษตร ซึ่งในช่วงหน้าแล้งของทุกปี (ม.ค.-พ.ค.) เกษตรกรจะใช้น้ำจำนวนมากจนทำให้สระเก็บน้ำในสวนผลไม้แห้งจนต้องหันมาสูบน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น คลอง สระ อ่างเก็บน้ำ


โดยแหล่งน้ำสาธารณะที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ อบต.สะตอ ใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งคือ คลองสะตอ ที่มีต้นน้ำมาจากเขาบรรทัด ไหลผ่านมา ต.สะตอ เพื่อลงแม่น้ำเขาสมิง ซึ่งในระหว่างทางไหลของน้ำจะมีเกษตรกรในพื้นที่ ต.ตกพรม และ ต.บ่อเวฬ จ.จันทบุรี รวมทั้ง ต.หนองบอน จ.ตราด ดักใช้น้ำจนทำให้ ต.สะตอ ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำได้รับความเดือดร้อน

ขณะที่ความก้าวหน้าในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอนั้น นายธำรงศักดิ์ นคราวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตราด ให้ข้อมูลว่าในส่วนของการศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2562 และได้ทำการสำรวจ ออกแบบแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.2564

รวมทั้งได้ยื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าตกพรม จ.จันทบุรี ในปี 2565 รวมทั้งได้ยื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสมิง จ.ตราด แล้วเช่นกัน

และในปีงบประมาณ 2566 ได้ดำเนินการประชุมกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทาน และตรวจสอบทรัพย์สินในปีงบประมาณ 2566-2567






กำลังโหลดความคิดเห็น