xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ปลื้มดัชนี Global Gender Gap Index 2023 สะท้อนความก้าวหน้านโยบายความเสมอภาคทางเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดีรายงานดัชนี Global Gender Gap Index 2023 โดย WEF สะท้อนความก้าวหน้าในการผลักดันนโยบายของรัฐบาล เพื่อความเสมอภาคทางเพศในหลายมิติ ปีนี้ไทยเป็นอันดับที่ 74 ขึ้นมา 5 อันดับจากปีที่แล้ว


วันนี้ (26 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้เปิดเผยรายงานดัชนีความเสมอภาคทางเพศทั่วโลก ประจำปี 2566 (Global Gender Gap Index 2023) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 74 จากทั้งหมด 146 ประเทศ โดยอันดับขยับขึ้น 5 อันดับ จากอันดับที่ 79 ในปี 2565 ด้วยคะแนน 0.711 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.002 คะแนน (https://www.weforum.org/reports/global-gender-gap-report-2023/in-full/benchmarking-gender-gaps-2023#country-coverage)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า WEF จัดทำรายงานดัชนีความเสมอภาคทางเพศทั่วโลกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 เพื่อประเมินความคืบหน้าเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ และเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างเพศของประเทศต่างๆ ใน 4 มิติ ได้แก่ 1. ความเสมอภาคด้านการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ (Economic Participation and Opportunity) 2. ความสำเร็จทางการศึกษา (Educational Attainment) 3. สุขภาพและการอยู่รอด (Health and Survival) และ 4. การส่งเสริมศักยภาพทางการเมือง (Political Empowerment) โดยหากมองในระดับภูมิภาค ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีความเท่าเทียมที่ร้อยละ 68.8 ซึ่งนับเป็นคะแนนสูงสุดอันดับ 5 จากทั้งหมด 8 ภูมิภาค โดยผู้หญิงในภูมิภาคนี้ต้องใช้เวลา 189 ปี จึงจะสามารถอุดช่องโหว่ความไม่เสมอภาคทางเพศได้ผลสำเร็จ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณารายมิติในปีนี้ ไทยอยู่ในอันดับที่ 24 มิติความเสมอภาคด้านการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยคะแนน 0.772 อันดับที่ 61 มิติความสำเร็จทางการศึกษา ด้วยคะแนน 0.995 อันดับที่ 42 มิติสุขภาพและการอยู่รอด ด้วยคะแนน 0.977 และอันดับที่ 120 มิติการส่งเสริมศักยภาพทางการเมือง ด้วยคะแนน 0.101

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม ตามหลักสิทธิมนุษยชน และตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และได้ดำเนินการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรี ซึ่งถือเป็นประชากรที่มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ด้วยตระหนักถึงศักยภาพของสตรีในการเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ โดยรัฐบาลได้กำหนดกลไกการทำงาน และมีความร่วมมือกับกลไกจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งลำดับที่สูงขึ้นในดัชนีของ WEF นี้ จะเป็นอีกกำลังใจในการทำงานให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น