xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ห่วงใยครัวเรือนกลุ่มเปราะบางปรับตัวไม่ทันสถานการณ์เศรษฐกิจ ดอกเบี้ย ให้นโยบายหน่วยงานเน้นดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรีห่วงใยครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ปรับตัวไม่ทันสถานการณ์เศรษฐกิจ ดอกเบี้ย ให้นโยบายหน่วยงานเน้นดูแลแบบพุ่งเป้าเฉพาะจุด และหนี้นอกระบบ เผย ยอดการช่วยเหลือผ่านมาตรการรัฐ 5.26 ล้านบัญชี 3.37 ล้านล้านบาท

วันนี้ (17 มิ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ขณะนี้ข้อมูลเศรษฐกิจไทยหลายด้านจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว การจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังคงมีความห่วงใยประชาชนในกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้า มีภาระหนี้สูง ที่ต้องมีการดูความสามารถในการชำระหนี้ให้ดี เนื่องจากเวลานี้อยู่ในช่วงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจให้มีความเหมาะสม

นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวนโยบายแก่หน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้เน้นการดูแลประเด็นหนี้สินครัวเรือนพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบางเฉพาะกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้เป็นหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบเพื่อให้ทางการเห็นข้อมูลและมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกระทำการที่ผิดกฎหมาย

“นายกรัฐมนตรีได้รับทราบตามรายงานของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ในเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน การชำระหนี้ในภาพรวมทั้งประเทศตอนนี้อยู่ในระดับที่ดี ไม่น่ากังวล ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใหม่หรือมาตรการที่ใช้ในวงกว้างเหมือนช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ให้มีมาตรการพุ่งเป้าดูแลแบบเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่อาจยังปรับตัวไม่ได้ รวมถึงกลุ่มหนี้นอกระบบ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงการคลัง ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบการด้านการเงินแต่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้เป็นหนี้ในระบบผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การปรับโครงสร้างนี้ การผ่านปรนเกณฑ์การชำระหนี้ ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย และมีการปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องสถานการณ์มาโดยต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/66 มีผู้ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ แยกเป็นการช่วยเหลือผ่านธนารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.94 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ 1.89 ล้านล้านบาท ผ่านธนาคารเฉพาะกิจ 3.32 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ 1.48 ล้านล้านบาท รวมการได้รับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 5.26 ล้านบัญชี วงเงินรวม 3.37 ล้านล้านบาท

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบธนาคารเฉพาะกิจก็ได้มีโครงการออกมาให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่นกรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เปิดจุดให้คำปรึกษาเกี่ยวกับหนี้นอกระบบแก่ครอบครัวเกษตรกรที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และล่าสุด ได้มีโครงการ “มีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส.” เพิ่มความสะดวกให้ผู้ต้องการใช้บริการให้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน www.baac.or.th หรือ Line Official Account: BAAC Family กรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็น ภาระหนี้สิน และช่องทางติดต่อกลับในระบบ จากนั้นธนาคารจะติดต่อกลับเพื่อนัดหมายเข้าพบพูดคุยให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งตั้งแต่มีโครงการช่วยเหลือครอบครัวเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส. ได้ช่วยผู้อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบแล้ว 710,123 ราย เป็นเงิน 59,759.77 ล้านบาท ซึ่งผู้สนใจโครงการสามารถสอบถามที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศและ Call Center ธ.ก.ส. 02 555 0555


กำลังโหลดความคิดเห็น