xs
xsm
sm
md
lg

2 นักวิชาการมองการเมืองหลังการเลือกตั้งสุดวุ่นวาย “เจษฎ์” ชี้รัฐบาลตั้งช้าไม่แปลก “สิริพรรณ” ห่วงไทยเผชิญหน้าฝนที่ร้อนระอุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



2 นักวิชาการมองการเมืองหลังการเลือกตั้งสุดวุ่นวาย “เจษฎ์” ชี้ รัฐบาลตั้งช้าไม่แปลก ยก ตปท.ใช้เวลากว่า 400 วัน ถึงสำเร็จ มอง ส.ว. 250 เสียง ตัวขัดขวาง เชื่อ หากไม่มี ส.ว. เพื่อไทย ไม่มีวันจับมือ ก้าวไกล ด้าน “สิริพรรณ” ห่วงถ่ายโอนอำนาจ หวั่นไม่สันติ ทำประเทศไทยเผชิญหน้าฝนที่ร้อนระอุ

วันนี้ (16 มิ.ย.) สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้ง ปี 2566 โดยมี ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย ร่วมเสวนา โดย รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า หลังเลือกตั้งจะมีการนำกฎหมายมาใช้เยอะแยะ ที่น่าเห็นใจ เพราะว่ามีการเปลี่ยนกฎหมายไปเรื่อยๆ รวมถึงตนเองก็ยังงง พอเปลี่ยนบ่อย ถึงเวลาใช้จริง ไม่ได้ใช้ตัวแม่บทกฎหมาย แต่มีกลไกที่มากำกับในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นคนสร้าง เช่น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข / ต้องยอมรับว่า ภายหลัง 2475 มีระบอบดังกล่าวมานานแล้ว ไม่ใช่เราเป็นคนสร้างขึ้นมา ทั้งนี้ การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายบ่อยๆ ไม่ดี อะไรที่ดีอยู่แล้วควรเก็บไว้ อย่าไปแก้ ส่วนไหนเป็นปัญหาก็หยิบมาแกไข ส่วนที่ไม่มี แต่เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็มีการทำได้ภายหลัง

นายเจษฎ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่ต้องแปลกใจที่อาจจะล่าช้า เพราะอย่างประเทศเยอรมนี หรือ เบลเยียม ยังใช้เวลาถึง 400 กว่าวัน เมื่อเทียบกันแล้วการจัดตั้งรัฐบาลไทย จึงไม่ได้ล่าช้า แต่ที่เป็นปัญหา คือ แม้จะได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่สุดท้าย หากสภาล่างไม่ถึงครึ่งก็อยู่ลำบาก ท้ายที่สุดก็จะเกิดกลไกที่ตนมองว่า ไม่ควรเกิดขึ้นคือ การเข้ามารักษาความสงบแห่งชาติ มันจะทำให้บ้านเมืองลุกลามบานปลาย และจบปลายทางด้วยการรัฐประหาร ดึงพรรคพวกเข้ามาบริหาร

“ปัญหามากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล คือ การมี ส.ว. 250 เสียง จะต้องคอยขัดว่า จะต้องให้ได้ 376 เสียง หากไม่มีเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย ไม่มีวันจับมือกับพรรคก้าวไกล เด็ดขาด นี่คือ สิ่งที่อดีต คสช. ได้ทำไว้ เพื่อช่วยเสียงข้างน้อยให้จัดตั้งรัฐบาลได้ และถ้าจะมองถึงขนาดนี้ ก็มองให้ไกลกว่านี้ โดยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปด้วยเลย จะได้ไม่ต้องมีปัญหา หรือจะให้ ส.ว. ร่วมโหวตกฎหมายด้วยเลย ย้ำว่า สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหา คือ คสช.”

ด้าน ศ.ดร. สิริพรรณ มองว่า ทิศทางการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง ที่เห็นชัดเจน คือ บทบาทของโซเชียลมีเดีย กับการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14-15 พ.ค. พบข้อมูลว่า มีคนใช้โซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ทวิตเตอร์ ทั้งหมด 83 ล้านบัญชี และ 84% ของประชากรไทยมีบัญชีโซเชียล เท่ากับอีก 16% ไม่มีบัญชีโซเชียล ซึ่งอาจจะเป็นเด็ก หรือผู้ที่ไม่ได้สนใจการเมือง และสิ่งที่เห็นได้ชัดเป็นอันดับแรก คือ การใช้ # เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง และเชิญชวนให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลเองก็ใช้โซเชียลมีเดียในการกำหนดนโยบาย แต่สิ่งที่อยากจะพูด คือว่า ผลการใช้โซเชียลมีเดีย อีกด้านหนึ่ง คือ เป็นการสร้างความใกล้ชิด สนิทสนมมากขึ้นกับพรรคการเมือง

นอกจากนี้ ประเด็นต่อมา คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในความเป็นชนบทของไทย แต่เดิมหากเราดูผลการเลือกตั้ง จะเห็นว่า พรรคก้าวไกล สามารถชนะทั้งในเมืองและพื้นที่ชนบท ดังนั้น ไม่มีชนบทแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว และเกิดคำถามว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ ถึงย้ายขั้วไปเลือกพรรคก้าวไกล และโดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ย้ายขั้ว คือ ฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งตนมองว่า เพราะสิ่งที่เขาต้องการ คือ การตอบคำถามในเชิงเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพในการบริหาร

ศ.ดร. สิริพรรณ ยังพูดตอหนึ่งถึงรัฐธรรมนูญ ว่า ความเป็นธรรมของประชาชน ไม่ใช่ดูว่า จะต้องไปดูหรือแก้มาตราไหน และไม่ใช่ให้การตีความไปอยู่ที่เฉพาะนักกฎหมายหรือนักรัฐศาสตร์ เพราะฟังนักกฎหมาย 10 คน ก็บอกความต้องการไม่ตรงกัน บางครั้งคนเดียวกัน พูดสองครั้งก็ไม่เหมือนกัน และถามว่าทำไมประเทศไทยถึงตกอยู่ในภาวะของการแช่แข็งทางการเมือง เพราะก็ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 1 เดือน จริงอยู่ที่ต่างประเทศใช้เวลานานกว่านี้ ในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นรัฐบาลผสม แต่ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่ กกต. มีระยะเวลาถึง 60 วัน ในการพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้ง จึงมองว่า นี่คือ ปัญหา แต่หากถามว่า เป็นความผิดของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็คงไม่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แบบนี้

“เชื่อว่า กกต. ไม่มีลับลมคมใน แต่ประชาชนเรียนรู้กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยมายาวนาน จนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นพิษสงร้ายแรงต่อรัฐบาลใหม่ ที่จะเกิดขึ้น ได้แต่จินตนาการว่า พรรคนั้นจะเปลี่ยนขั้ว พรรคนี้จะไปรวมกับพรรคนั้น นี่คือความบั่นทอนของกติกาที่สร้างต่อตัวสถาบันการเมือง”

ศ.ดร.สิริพรรณ ยังกล่าวถึงประเด็นการถือหุ้นของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยเปรียบเทียบกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่า หากจำไม่ผิด กกต. ได้ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัย วันที่ 16 พ.ค. 62 ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา 7 วัน จึงมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะเลือกประธานสภา แต่กรณี นายพิธา ไม่แน่ใจว่า ถ้าจะยื่นคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจว่า จะต้องมีการถวายสัตย์ฯก่อน ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลานานแค่ไหน ที่จะพิจารณามีคำสั่งทางใดทางหนึ่ง ถ้าดูครั้งที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีคำสั่งให้นายธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วจึงวินิจฉัยว่านายธนาธร ถือหุ้นและขาดคุณสมบัติ

“กรณี นายพิธา ถือหุ้น ไม่แน่ใจว่า เราจะได้เห็นคำวินิจฉัยก่อนหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นอยู่ที่การโหวตของสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ติดตั้งกลไก โจทย์ที่ใหญ่ที่สุด และดิฉันไม่ได้โฟกัสว่า นายพิธาจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ แต่กลับมองว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ ความท้าทายในการถ่ายโอนอำนาจ อย่างสันติ คือ การจากอีกขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง หลังการเลือกตั้ง ถ้าผ่านเดือนกรกฎาคม สิงหาคม ไปได้อย่างสงบ สันติ หาทางออกได้โดยฉันทามติ อาจจะไม่ใช่ทุกเรื่อง อย่างน้อยที่สุด เริ่มต้นนับหนึ่งคือการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ประเทศชาติจะได้ไปต่อได้ แต่ถ้าไม่สามารถผ่านกรกฎาคม สิงหาคม ไปได้ คิดว่า เราจะมีหน้าฝนที่ร้อนระอุ”


กำลังโหลดความคิดเห็น