ศาล ปค.สูงสุด ยืนไม่รับคำฟ้อง “สราวุธ” อดีตเลขาฯ ศาลยุติธรรม ปมขอเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ ชี้ ไม่อยู่ในอำนาจศาล ปค.พิจารณาพิพากษา
วันนี้ (13 มิ.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่ นายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ 404/2565 เรื่อง ไล่ข้าราชการศาลยุติธรรมออกจากราชการลงวันที่ 22 เม.ย. 65 ที่ลงโทษ ไล่นายสราวุธออกจากราชการตามมติของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ในการประชุมครั้งที่ 9/2565 ลงวันที่ 18 เม.ย. 65 จากเหตุกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในการเอื้ออำนวยแก่บริษัทผู้เสนอราคาให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง ศาลจังหวัดมีนบุรี และศาลจังหวัดตลิ่งชัน
โดยศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า การมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในคดีนี้ไว้พิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นเพียงการดำเนินกระบวนพิจารณาที่อยู่ในชั้นตรวจคำฟ้องตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ประกอบข้อ 35 และข้อ 37 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในการปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2543 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อนายสราวุธฟ้องว่าการที่ประธานศาลฎีกาออกคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 404/2565 ลงวันที่ 22 เม.ย. 65 ลงโทษไล่นายสราวุธออกจากราชการเป็นกรณีสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้พิจารณาวินิจฉัยว่านายสราวุธ กระทำความผิดวินัยตามมติของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในการประชุมครั้งที่ 9/2565 ลงวันที่ 18 เม.ย. 65 ซึ่งนายสราวุธขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและศาลปกครองชั้นต้น เห็นว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กรณีจึงเป็นเรื่องไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 จึงเห็นได้ว่าการไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาในคดีนี้ได้นำมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 และข้อ 35 ประกอบข้อ 37 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2543 มาพิจารณาในการตรวจคำฟ้องของนายสราวุธเท่านั้น คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและไม่จำต้องส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
ส่วนที่ นายสราวุธ อุทธรณ์ว่า บทบัญญัติมาตรา 22(1) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม 2543 ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 193 และมาตรา 196 ของรัฐธรรมนูญและศาลปกครองชั้นต้นได้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดส่งข้อโต้แย้งดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้น เห็นว่า การนำบทบัญญัติดังกล่าวมาอ้างเป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองที่จะรับหรือไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 เท่านั้นกรณีจึงไม่ใช่การนำมาตรา 22(1) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม 2543 มาใช้บังคับแก่คดีโดยตรงและถือเป็นเหตุที่ทำให้ศาลปกครองต้องส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญเมื่อศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากระบบความและนายสราวุธยื่นคำอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา คดีที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาแต่เพียงว่าคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 หรือไม่เท่านั้น ประกอบกับเป็นการพิจารณาอุทธรณ์ของนายสราวุธศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ใช้บทบัญญัติมาตรา 22 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม 2543 มาใช้บังคับแก่คดีนี้อีกเช่นกันกรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญที่ศาลจะต้องส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแต่อย่างใด