ป.ป.ช. เผย “พิธา” เคยยื่น การค้ำประกันหนี้-ถือหุ้นไอทีวี แล้ว รอตรวจสอบเป็นหนี้ก้อนเดียวกันหรือไม่ ส่วนเรื่องขาดคุณสมบัติ ส.ส. เป็นหน้าที่ กกต.วินิจฉัย
วันนี้ (9 มิ.ย.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. มาร่วมแสดงความยินดีครบรอบ 25 ปี กกต. พร้อมให้สัมภาษณ์การแจ้งบัญชีทรัพย์สินของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีการค้ำประกันเงินกู้ 460 ล้านบาท ว่า ทาง ป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบ พบว่า นายพิธา ได้เคยยื่นการค้ำประกันเงินกู้เข้ามา 1 ก้อน ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นก้อนเดียวกันหรือไม่ ต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ยังไม่เคยมีใครร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามา
เมื่อถามว่า กรณีที่มีการตั้งคำถามว่า เมื่อมีการค้ำประกันแล้ว ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินจะมีความผิดหรือไม่นั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า การค้ำประกันถือว่ายังไม่มีหนี้ที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเพียงสิทธิจากการกู้ยืมเงิน หากลูกหนี้ตัวจริงผิดนัดชำระก็จะไปเรียกจากคนค้ำประกันที่ต้องเป็นคนรับผิดชอบ แต่ตอนนี้เป็นสิทธิของลูกหนี้กับผู้ค้ำประกันเท่านั้นเอง ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ ป.ป.ช.ต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องยื่นรายการนี้ด้วยหรือไม่ แต่การตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า นายพิธา เคยยื่นมา 1 บัญชีเกี่ยวกับการค้ำประกัน
ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สิน หรือการยื่นค้ำประกัน ในลักษณะดังกล่าวหลังรับตำแหน่ง ส.ส. ต้องยื่นภายหลังหรือไม่ เลขาฯ ป.ป.ช.กล่าวว่า หากยื่นบัญชีทรัพย์สินไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาแจ้ง เว้นแต่ยื่นในกรณีพ้นจากตำแหน่งภายใน 30 วัน เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ยื่นเฉพาะรับตำแหน่ง กับพ้นตำแหน่งเท่านั้น แต่ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง หากมีความผิดปกติ ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องตรวจสอบที่มาของรายได้ และหนี้สิน
เมื่อถามว่า จากนี้จะมีการเรียกนายพิธาเข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ นายนิวัฒน์ไชย กล่าวว่า การตรวจสอบก็เป็นไปตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เช่น ถ้ามีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเข้ามา ก็ต้องดูว่าเป็นทรัพย์สินจริงหรือไม่ เป็นของใคร ส่วนจะมีปัญหาในภายหลังหรือไม่ ตนยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ป.ป.ช.
เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า ถึงกรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ของนายพิธานั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นนั้น เป็นชื่อของนายพิธาจริง ถือครองหุ้นอยู่ 4.2 หมื่นหุ้น มูลค่า 4 หมื่นกว่าบาท ซึ่งต้องตรวจสอบอีกครั้งว่ายื่นมาในฐานะอะไร เนื่องจากว่ามีรายงานว่าเป็นผู้จัดการมรดก โดยตามกฎหมายหากเป็นเจ้าของก็ต้องยื่น ส่วนกรณีหากมีการยื่นในภายหลังอาจจะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ก็ต้องดูที่เจตนาตนไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องมีเรื่องเจตนา และระยะเวลา ขณะที่การตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าได้ยื่นบัญชีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นการยื่นเพิ่มเติมภายหลังเข้ารับตำแหน่งแล้ว ไม่ใช่เป็นการยื่นหลังมีประเด็นแล้ว
อย่างไรก็ตาม การยื่นการถือหุ้นของนายพิธาจะต้องระบุประเภทกิจการการหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า มันระบุอยู่ในใบหุ้นอยู่แล้ว
“หน้าที่หรือคุณสมบัติต้องห้าม ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการมีอยู่จริงของทรัพย์สิน ถ้ามีอยู่แล้วยื่นมาก็ถือว่าไม่ได้มีเจตนาปกปิด แต่ถ้ามีแล้วไม่ยื่น ก็ถือว่ามีเจตนาหรือจงใจปกปิด ส่วนหลังตรวจสอบแล้วบัญชีทรัพย์สินนั้นจะขัดกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบของ กกต. ซึ่ง กกต.รับทราบและอยู่ระหว่างการพิจารณา”