xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ คฝ. ใช้ความรุนแรงกับ “ราษฎรหยุด APEC 2022” ละเมิดสิทธิมนุษยชน กระทบเสรีภาพสื่อ มีมติเสนอแนะ ป้องกัน แก้ไขไปยัง สตช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ กสม.ชี้ คฝ.ใช้ความรุนแรงกับ “ราษฎรหยุด APEC 2022” และละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม “ราษฎรหยุด APEC 2022” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กระทบเสรีภาพสื่อ มีมติเสนอแนะ ป้องกัน แก้ไขไปยัง สตช. ไม่ให้เกิดขึ้นอีก

วันนี้ (2 มิ.ย.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงกรณีมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “ราษฎรหยุด APEC 2022” กับ คฝ. บริเวณถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 เป็นผลให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งจากการพิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

โดยตามกติกา ICCPR ฉบับที่ 37 แม้ผู้ชุมนุมบางกลุ่มหรือบางรายจะมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าใช้ความรุนแรง เช่น การสาดพริกและเกลือคั่วร้อนใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้ท่อนไม้ตีแขนเจ้าหน้าที่ คฝ. แต่ไม่ถึงกับเป็นพฤติการณ์ที่แพร่หลายในที่ชุมนุม จึงไม่อาจนำไปเหมารวมได้ว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีเจตจำนงที่จะใช้ความรุนแรง อีกทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ก็ได้ห้ามปรามเป็นระยะ จึงเห็นว่าการชุมนุมในภาพรวมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบหรือเงื่อนไขที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและประกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ คฝ.มีการใช้กระบองและกระสุนยาง ซึ่งยิงผู้ชุมนุมโดยไม่เลือกเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่แจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบก่อน ทำให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บหลายราย และพบเจ้าหน้าที่ใช้วัตถุอื่นๆ ได้แก่ ขวดน้ำ ขวดแก้ว และท่อนไม้ ขว้างปาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้ง ซึ่งไม่ใช่เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามกฎหมาย ถือว่าไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขัดต่อบทบัญญัติ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ประกอบแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน ใช้กำลังเกินกว่าความจำเป็น เช่น การผลักจนล้มหรือการรุมเตะและชก ทั้งที่ผู้ถูกจับกุมบางรายมีท่าทีที่ยอมจำนนและไม่ขัดขืน และแม้บางรายจะแสดงอาการขัดขืนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีอาวุธที่จะใช้ต่อต้านจนถึงขนาดที่ผู้ถูกร้องจะต้องใช้กำลังเข้ารุมทำร้าย เป็นต้น

อีกทั้ง คฝ. ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความระมัดระวัง ทำให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ มีการใช้กำลังทำร้ายและคุกคามสื่อมวลชนให้ปฏิบัติตามคำสั่ง พยายามขัดขวางหรือปิดบังไม่ให้รายงานข่าวโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ของรัฐในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่สื่อมวลชน อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญและกติกา ICCPR ฉบับที่ 37

ดังนั้น ที่ประชุม กสม.วันที่ 29 พ.ค. 2566 จึงมีมติเสนอแนะมาตรการในการป้องกัน แก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้เร่งรัดหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกรายที่รับผิดชอบในการออกคำสั่งและเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนโดยไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่กำหนด ต้องติดตั้งกล้องพกพาที่ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่เกี่ยวข้องให้อำนวยความสะดวก ไม่แทรกแซงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ไม่ห้าม จำกัด ขัดขวาง หรือรบกวนการชุมนุมโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง ควรเน้นการลดความตึงเครียดของเหตุการณ์ไม่ให้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย หากมีสถานการณ์จำเป็นต้องใช้กำลังหรือเครื่องมือในการควบคุมดูแลการชุมนุม ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังผลกระทบต่อผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และประชาสัมพันธ์หรือเปิดช่องทางยื่นคำขอให้มีการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีได้รับความเสียหายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ให้ สตช. กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ควบคุมสั่งการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ให้สื่อสาร และประสานงานกับผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจของฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การบริหารจัดการชุมนุมเป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ให้ผู้จัดการชุมนุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ กำชับและย้ำเตือนผู้ชุมนุมโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้ระมัดระวังการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย งดเว้นการใช้ความรุนแรง การแสดงพฤติกรรมในลักษณะยั่วยุที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง หรือกระทำการในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น