“พิธา” เชื่อ เวทีเจรจาพรรคร่วมจะเคลียร์ปัญหา “ประธานสภา” จบ โดยไม่ต้องโหวตชิง มั่นใจ พท.- ก้าวไกล สมานรอยร้าวได้ ชี้ นัดชุมนุมเรียกร้อง “เพื่อไทย” ถอนตัวร่วมรัฐบาล เป็นสิทธิในระบอบ ปชต.
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย หรือ พรรคก้าวไกล จะมีการถอยคนละก้าวหรือไม่ ซึ่งตอนนี้มีนักวิชาการเสนอให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 3 มารับตำแหน่ง หรือพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยดำรงตำแหน่งพรรคละ 2 ปี
นายพิธา กล่าวว่า คิดว่า ทั้ง 8 พรรคที่ได้ร่วมจับมือกันแล้ว ต้องร่วมมือปรับจูนพูดคุยกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมาประชาชน และตนได้ยินแล้วว่าแต่ละพรรคมีความต้องการ และเหตุผลอย่างไร ซึ่งทางที่ดีที่สุดสุดน่าจะกลับไปพูดคุยกันผ่านทีมเจรจาที่เราเคยตั้งเอาไว้ และเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งปรับจูนเรื่องของนโยบายในช่วงเวลา 1-2 เดือนที่เราจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
“ทุกท่านพูดคุยกับสาธารณชนแล้วว่า เหตุผลคืออะไร ก็น่าจะเพียงที่จะนำกลับไปพูดคุยในทีมเจรจา ซึ่งผมเชื่อใจทุกท่าน” นายพิธา กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า มองว่า ตำแหน่งประธานสภา ยังต้องเป็นของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องให้ทีมเจรจาพูดคุยกัน เวลานี้เชื่อใจทุกพรรค เวลาทำงานทางการเมืองต้องเชื่อใจซึ่งกันและกัน
เมื่อถามว่า รอยร้าวระหว่างพรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล จะสมานกันได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ได้แน่นอน ตนคิดว่า เป็นเรื่องปกติของการทำงาน ที่อาจมีอะไรเห็นไม่ตรงกันอยู่บ้าง และพูดคุยกัน แต่ถ้าเราสามารถยึดประโยชน์ต่อประชาชนมาเป็นที่ตั้ง และกลับมา พูดคุยกันอย่างมีเหตุผล ต้นเชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก
เมื่อถามถึงกระแส วันที่ 28 พ.ค.นี้ จะมีการนัดชุมนุมเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย ถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นายพิธา กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย แต่เมื่อมีการพูดคุยกันแล้ว และทุกคนฝากความหวังไว้กับเราเยอะมาก ก็ให้เป็นหนึ่งในกระบวนการ แต่กระบวนการอันสำคัญ คือ การพูดคุยปรับจูนกัน ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะยังมีงานใหญ่ๆ รออยู่อีกเยอะ
เมื่อถามว่า ส่วนจะมีทางออกเรื่องนี้ไว้ในใจหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า คิดว่าทุกท่านมีทางออก ไม่ใช่เฉพาะตนคนเดียว ต้องให้เกียรคิพรรคร่วมอีก 7 พรรคด้วย นี่เป็นการตั้งรัฐบาลครั้งที่ 30 ก็คงมีอย่างนี้ทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับจะพูดคุยแสดงเหตุผลกันอย่างไร
เมื่อถามว่า จะต้องมีการโหวตเพื่อชิงตำแหน่งประธานสภา กันในสภาหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ต้องไปถึงจุดนั้น