xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ยื่นหลักฐาน กกต.เพิ่ม มัด “พิธา” ผิดถือหุ้นไอทีวี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เรืองไกร” ยื่นหลักฐาน กกต.เพิ่ม มัด “พิธา” ผิดถือหุ้นไอทีวี เล็งยื่น ส.ส.- ส.ว. ใช้สิทธิส่งศาล รธน. หาก กกต.รับรองไปก่อนผล

วันนี้ (24 พ.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นเอกสารต่อ กกต.เพิ่มเติม กรณีร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี ว่า ได้นำเอกสารเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของนายพิธา มายื่นเพิ่ม เพื่อให้ กกต.นำไปประกอบการพิจารณา ประกอบด้วย ตารางชื่อของ นายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ และ นายพิธา ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ปี 2549-2566 รวมทั้งสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี ปี 2549-2566 (บางส่วน) สำเนาวัตถุประสงค์ของ บมจ.ไอทีวี ตารางรายได้รวมของ บมจ.ไอทีวี ปี 2564-2565 สำเนารายได้รวมของปี 2564-2565 (ขาดปี 2555) และสำเนา พ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน (บางส่วน) เนื่องจากตนเองเป็นแค่ผู้ร้อง ไม่มีอำนาจไปตรวจสอบกิจการได้ อีกทั้งมองว่าเรื่องนี้ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ดังนั้น เมื่อเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะขอให้ศาลใช้ระบบไต่สวนเพื่อเรียกพยานหลักฐานเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย

นายเรืองไกร ยังกล่าวด้วยว่า หาก กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แต่ยังดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา ไม่แล้วเสร็จ อยากขอให้นักการเมืองที่มีสถานภาพเป็น ส.ส. ร่วมกันเข้าชื่อตามกฎหมาย เสนอเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกับที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถูกยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบกรณีถือหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ช่วงก่อนยุบสภา ส่งผลให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะตรวจสอบคู่ขนานกับทาง กกต.ได้ ดังนั้น จะเอาไปนำเสนอต่อ ส.ส. เพื่อพิจารณาส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทำได้ และถ้า นายพิธา เป็นนายกฯแล้ว ก็จะขอให้ ส.ว. จำนวน 250 ใช้สิทธิยื่นร้องสอบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน ยืนยันว่า ข้อเสนอเป็นไปตามหลักข้อเท็จจริง ไม่มีอภินิหารหรือนิติสงครามทั้งสิ้น
นอกจากนี้ นายเรืองไกร ยังได้เข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.ที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กรณีขึ้นรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นรูปโลโก้พร้อมเบอร์พรรคเพื่อไทย เข้าข่ายจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือเข้าข่ายหลอกหลวงให้หลงผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคหรือไม่ เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(5) ประกอบมาตรา 56 มาตรา 132 และมาตรา 137 หรือไม่ ซึ่งทำให้คนเข้าใจว่าเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคหรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยวันนี้จะยื่นหลักฐานเพิ่มเติมว่าปัจจุบันบุคคลทั้ง 2 ได้ทำการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์แล้วหลังจากที่ตนยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ ซึ่งการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์แสดงว่าข้อกล่าวหาก็จะต้องมีการตรวจสอบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น