โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ สนับสนุน “ลิ้นจี่นครพนม 1 (นพ.1)” เป็นสินค้า GI ควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ปี 2565 สร้างผลผลิตได้ 169 ตัน สร้างมูลค่าได้กว่า 13.5 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนการผลิตลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 (นพ.1) สินค้า GI ของจังหวัดนครพนม พร้อมชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการขับเคลื่อนองค์ความรู้การผลิตลิ้นจี่คุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) สร้างโอกาสทางการค้าของไทยให้เติบโตสู่ตลาดโลก
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ เปิดเผยว่า ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 (นพ.1) ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครพนม ซึ่งมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง มีลักษณะเฉพาะ คือ มีขนาดผลใหญ่ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาดเนื้อหนา เป็นลิ้นจี่กลุ่มพันธุ์เบา ปัจจุบันจังหวัดนครพนมมีพื้นที่ปลูกกว่า 2,969 ไร่ มีผลผลิตรวม 1,500 ตันต่อปี โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการในพื้นที่ จัดทำมาตรฐานลิ้นจี่พันธุ์นครพนม1 ด้วยการแบ่งเป็น 3 ชั้นคุณภาพ ได้แก่
- ชั้นพิเศษ (AA) สีผิวผลแดงสม่ำเสมอไม่มีสีเขียวปน จำนวนผลน้อยกว่า 35 ผลต่อกิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลไม่น้อยกว่า 38 มิลลิเมตร
- ชั้นหนึ่ง (A) ตำหนิผิวโดยรวมต่อผลต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 0.25 ตารางเซนติเมตร สีผิวผลแดงสม่ำเสมอไม่มีสีเขียวปน จำนวนผล 35-40 ผลต่อกิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร
- ชั้นสอง (B) ชั้นสอง ตำหนิผิวโดยรวมต่อผลต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 0.5 ตารางเซนติเมตร สีผิวผลแดงสม่ำเสมอไม่มีสีเขียวปน จำนวนผล 35-45 ผล/กิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร
ซึ่งแหล่งผลิตลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 (นพ.1) ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) ในปี 2565 จำนวน 69 แปลง พื้นที่ 125 ไร่ ปริมาณผลผลิตประมาณ 169 ตัน มูลค่าผลผลิตประมาณ 13.5 ล้านบาท และมีการรวมกลุ่มตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้เป็นสินค้า GI ตัวแรกของจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ปี 2556 (ปัจจุบันมีสินค้า GI ของจังหวัดนครพนมทั้งหมด 2 ชนิด คือ ลิ้นจี่นครพนม และสับปะรดท่าอุเทน) นอกจากนี้ มีการพัฒนาโมเดลนครพนม 1 ไร่ 3 แสนบาท ประยุกต์การทำการเกษตรสวนลิ้นจี่แบบผสมผสาน ควบคู่กับการปลูกพืช และ การเลี้ยงผึ้งเสริมรายได้ สร้างรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี
“นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพสินค้าไทยตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมสินค้า GI เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรของไทย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในเอกลักษณ์และคุณภาพสินค้าไทย สามารถต่อยอด และพัฒนาได้อีกมาก พร้อมชื่นชมการขับเคลื่อนองค์ความรู้เพื่อผลิตลิ้นจี่คุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) เพิ่มมูลค่าทางการตลาด สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่น และสร้างโอกาสทางการค้าของไทยให้เติบโตสู่ตลาดโลก” นายอนุชา กล่าว