“เจิมศักดิ์” ยก “เบี้ยกุดชุม” 20 ปีก่อน ใช้กระดาษแทนเงินในชุมชน แต่ ธปท.ไม่อนุญาต เพราะเป็นการ “พิมพ์ธนบัตร” ใช้กันเอง เทียบเงินดิจิทัลเพื่อไทย ก.คลัง หรือ ธปท.มีอำนาจ ด่านแรก ก่อนผล ลบ หรือ บวก “พท.” แจงยิบ 10 ข้อสงสัย
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (10 เม.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ ระบุว่า
“แนวคิดของพรรคเพื่อไทยที่จะแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ซึ่งจะต้องใช้ภายในรัศมีพื้นที่หนึ่งและใช้หมดในเวลาหนึ่ง
ไม่ต่างอะไรกับการแจกคูปองศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งใช้ได้ภายในพื้นที่ และเวลาหนึ่ง หลังจากนั้น ร้านอาหารที่ได้รับคูปองก็นำไปขึ้นเงินบาทกับรัฐบาล
ในอดีตตำบลกุดชุม จังหวัดยโสธร เคยมีแนวคิดเช่นเดียวกันนี้ ได้ออก “เบี้ยกุดชุม” เป็นกระดาษ (ตอนนั้นยังไม่มีระบบดิจิทัล) เพื่อใช้ในชุมชนกุดชุมไม่ให้เงินรั่วไหลออกไปนอกชุมชนเร็วมากนัก
ผมเคยไปทำรายการทีวีที่ตำบลกุดชุม เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว พร้อมทั้งนำตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยไปด้วย
จำได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่อนุญาตให้ทำ เพราะถือเป็นการพิมพ์ธนบัตรเพื่อใช้กันเอง และในที่สุดชุมชนกุดชุมก็ต้อง ยกเลิกไป
หากประเทศไทยจะทำโดยรัฐบาลเป็นผู้ทำก็จะต้องเคลียร์เรื่องอำนาจ ว่า การออกธนบัตรแบบดิจิทัล เป็นอำนาจของกระทรวงคลัง หรือเป็นอำนาจของ ธนาคารแห่งประเทศไทย
แล้วจะส่งผลกระทบในด้านบวก คือ กระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น หรือกระตุ้นเศรษฐกิจผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศที่ส่งไปขายทุกท้องถิ่น และด้านลบโดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ ภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล ด้วยหรือไม่
นโยบายแจกและแถม จะถือว่ามีเจตนาซื้อเสียงล่วงหน้า หรือมีเจตนาที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ กรรมการการเลือกตั้งและศาลจะต้องพิจารณา
นโยบายนี้ น่าจะได้ผลคะแนนเสียงกับผู้คนที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์ ที่หวังพึ่งพิงพึ่งพาผู้มีอำนาจ โดยที่ไม่เชื่อว่า การพึ่งพาตนเองจะประสบความสำเร็จ”
ขณะเดียวกัน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และกรรมการ เลขานุการ โฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ชี้แจง นโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ว่า
1. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิการใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อ
2. เหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิการใช้เงิน ที่ใช้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่มีการสร้างมูลค่า ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล
3. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นต่อความมั่นคงของระบบการเงิน ไม่เกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะไม่ใช่การสร้างสกุลเงินใหม่
4. กระเป๋าเงินดิจิทัล เงิน 10,000 บาท ลงถึงมือประชาชนทุกคน (16 ปี ขึ้นไป) ทุกบาททุกสตางค์ ใช้จ่ายจริง ซื้อของได้จริง ไม่มีการสูญหายของงบประมาณ ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมตลอดเส้นทาง
5. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่ใช่กรณีเดียวกับ Bitcoin Luna USDT ตามมีผู้กล่าวอ้าง เหล่านั้นออกโดยเอกชนและมุ่งหมายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิการใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไป ออกโดยรัฐบาล ไม่ใช่สกุลเงินคู่ขนานกับเงินบาท
6. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ไม่เกี่ยวกับการซื้อบริษัท ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ไม่เกี่ยวกับการลงทุน เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ทั้งหมดใช้งบประมาณจากภาครัฐและโอนตรงถือมือประชาชนทุกคน (16 ปีขึ้นไป) ง่ายๆ และตรงไปตรงมา
7. กระเป๋าเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาด สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย ตรงข้ามกับวิธีเดิมที่ต้องซื้อในร้านใหญ่หรือกลุ่มทุน
8. กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม
9. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ปัจจุบันระดับกำลังซื้อของประเทศตกต่ำ เศรษฐกิจตกต่ำกว่าศักยภาพมาก สภาวะดังกล่าวไม่นำสู่เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ได้ รวมทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล สามารถจัดสรรเงินจากงบประมาณ ไม่มีการขึ้นอัตราภาษีใดๆ
10. พรรคเพื่อไทยสนับสนุน Central Bank Digital Currency (CBDC) และเดินหน้าพัฒนาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับทุกคน เพื่อยกระดับระบบการเงินของประเทศเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล